วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

สุนทรภู่

สุนทรภู่
(กวีเอกของโลก)
เกิด วันจันทร์ เดือนแปด ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลาเช้า 2 โมง ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329
ในรัชกาลที่ 1
ตาย ปีเถาะ พ.ศ. 2398 ในรัชกาลที่ 4 อายุ 70 ปี
ที่เกิด กรุงเทพฯ
บิดา ชาวบ้านกล่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
มารดา ไม่ทราบว่าเป็นชาวเมืองอะไร
วัยเด็กบิดามารดาหย่ากัน บิดาออกไปที่บ้านเดิม ได้รับการศึกษาที่วัดชีปะขาว คือวัดศรีสุดาราม ในคลองบางกอกน้อย ประมาณอายุ 18 ปี เข้ารับราชการเป็นเสมียนในกรมพระคลังสวน สุนทรภู่มีภรรยาหลายคน ที่ปรากฎในบทประพันธ์ ชื่อจัน พลับ สร้อย มีบุตรชาย 2 คน ชื่อพัด และดาบ
สุนทรภู่ได้ลาออกจากเสมียน เดินทางท่องเที่ยวไปหลายวัด และได้กลับมากรุงเทพฯ ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชนิพนธ์บทละคร เรื่องอิเหนาและรามเกียรติ์ และคงนึกถึงสุนทรภู่ เพราะเคยได้ยินชื่อเสียง และเคยเห็นสำนวนกลอนมาก่อน ตาอมาภายหลังสุนทรภู่เริ่มเป็นคนโปรด เมื่อแต่งกลอนตอนนางสีดาผูกคอตาย
สิ้นรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่ถูกถอดออกจากตำแหน่ง จึงได้ออกบวชเป็นพระภิกษุ หลังจากสึกแล้วจึงเข้าฝากตัวอยู่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (พระปิ่นเกล้า) สุนทรภุ่จึงมีโอกาสเข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ในสมเด็จพระปิ่นเกล้าอยู่หัว มีบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรโวหาร ถึงแก่กรรม พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 70 ปี
สุนทรภู่ เป็นกวีไทยที่มีชื่อเสียงและความเป็นเอกในเชิงกลอน ท่านได้รับเกียรติจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ โดยได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม หรือนัยหนึ่งเป็นกวีเอกของโลก เมื่อ พ.ศ. 2529 รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการฉลอง 200 ปี กวีเอกสุนทรภู่ขึ้น นับว่าท่านเป็นกวีสามัญคนเดียวที่ได้รับการสดุดียกย่องอย่างสูง
ผลงานของสุนทรภู่มีอยู่ 9 เรื่องด้วยกัน คือ นิราศเมืองแกลง นิราศพระบาท นิราศภูเขาทอง นิราศเมืองสุพรรณ นิราศวัดเจ้าฟ้า นิราศอิเหนา นิราศพระประธม นิราศเมืองเพชรบุรี และรวมลำพันพิลาบ นิทาน 5 เรื่อง สุภาษิต 3 เรื่อง บทละคร 1 เรื่อง เสภา 2 เรื่อง และบทเห่กล่อม 4 เรื่อง

บุคคลสำคัญที่มีส่วนสร้างสรรค์วัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ไทย

พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย


พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ทรงเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และสมเด็จพระศรี สุริเยนทราบรมราชินี พระราชสมภพ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2347 มีพระนามเดิมว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทวาวงศ์" เมื่อพระชนมายุครบ 21 พรรษาทรงผนวช ตามราชประเพณี แต่เมื่อผนวชได้ 15 วัน สมเด็จพระบรมชนกนาถพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็เสด็จสวรรคตโดยไม่ทันได้มอบราชสมบัติให้แก่ผู้ใดพระบรมราชวงศ์และเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ประชุมหารือและตัดสินใจอัญเชิญกรมหมื่นเจษฏาบดินทร์ พระเชษฐาต่างพระมารดาซึ่งเจริญพระชันษา กว่าเจ้าฟ้ามงกุฎถึง 17 พรรษาขึ้นครองราชสมบัติ พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เจ้าฟ้ามงกุฎจึงตัดสินพระทัย ครองสมณเพศต่อไปอย่างไม่มีกำหนด เสด็จจำพรรษา ณ วัดสมอรายหรือวัดราชาธิวาสในปัจจุบัน ทรงมีฉายาขณะทรงเพศบรรพชิตว่า "วชิรญาณภิกขุ"

ช่วงเวลาระหว่างอยู่ในเพศบรรพชิต พระองค์ทรงมีเวลาศึกษาศิลปะวิทยาการหลายแขนง ประวัติศาสตร์ โบราณคดี โหราศาสตร์ ภาษาบาลี จนทรงมีความรอบรู้ลึกซึ้งกว้างขวาง ทรงรอบรู้แตกฉานในพุทธศาสนาทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัย และตั้งคณะสงฆ์นิกายใหม่ที่ชื่อว่า "คณะธรรมยุตินิกาย" เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทำให้คณะสงฆ์เก่า คณะมหานิกาย ตื่นตัวนับเป็นการฟื้นฟูพุทธศาสนาที่กำลังเสื่อมโทรมในขณะนั้นด้วยทางหนึ่ง

ปีพ.ศ.2380 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระองค์เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ได้ทรงเริ่มติดต่อสมาคมกับชาวต่างประเทศ ตั้งแต่พ่อค้าจนถึงหมอสอนศาสนามิชชันนารี ได้แก่ ศาสนาจารย์เจสซี่ แคสแวล ศาสดาจารย์ดีบี บรัดเลย์ และ ดร.เรโนลด์ เฮาส์ ถวายพระอักษรภาษาอังกฤษ ความรู้และวิทยาการความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของชาวตะวันตก อาทิเช่น วิชาดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และการแพทย์ ทรงสั่งซื้อ แท่นพิมพ์หินจากสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดพิมพ์บทสวดมนต์และตำราภาษาบาลีขึ้นหลายเล่ม นับเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกของคนไทย ระหว่างทรงผนวชอยู่โปรดเสด็จฯ ธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ทำให้ทราบถึงสถานการณ์บ้านเมือง และความทุกข์สุขของราษฎรอย่างแท้จริง

ครั้น ถึงปี พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระบรมวงศานุ-วงศ์และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ได้ถวายบังคมทูลอัญเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ พระองค์จึงทรงลาผนวชรวมจำพรรษาได้ 27 พรรษาขณะนั้นมีพระชนมายุ 47 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2394 โดยมีพระปรมาภิไธยโดยย่อว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรามหามงกุฎฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์พระองค์ทรงตระหนักดีว่าต่างชาติกำลังแผ่ขยายอำนาจมาบริเวณใกล้เคียง ประเทศไทย (สมัยนั้นเรียกว่า ประเทศสยาม) ถึงเวลาต้องปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยเป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก ทรงปรับปรุงแก้ไขธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ ที่ล้าสมัย เช่นยกเลิกประเพณีเข้าเฝ้าตัวเปล่าไม่สวมเสื้อ เลิกไว้ผมทรงมหาดไทยทรงส่งเสริมให้เจ้าจอม พระราชโอรส พระราชธิดา เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ทรงตกลงยินยอมทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีกับอารยประเทศ อนุญาตให้ประเทศมหาอำนาจตั้งสถานกงสุล มีนโยบายผ่อนหนักผ่อนเบาส่งผลให้ประเทศชาติรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติมหาอำนาจ ทำให้ชาวต่างชาติรู้จักพระองค์ ในนาม "คิงมงกุฎ" อย่างกว้างขวาง

ในปี พ.ศ.2398 สมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ทรงส่ง เซอร์ จอห์น เบาวริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงต้อนรับอย่างสมเกียรติ ทรงสนทนาด้วยภาษาอังกฤษตลอดเวลา เป็นที่ปลาบปลื้มแก่ราชทูตยิ่งนัก ถึงกับทูลว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินพระองค์แรกในบูรพาทิศที่ตรัสภาษาอังกฤษได้ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด เกล้า ฯ แต่งตั้งคณะทูตไทยเชิญ พระราชสาสน์และเครื่องราชบรรณาการ ไปถวายสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย เป็นการเจริญทางพระราชไมตรีตอบแทน นอกจากนั้นยังโปรดเกล้า ฯ ให้มีคณะทูตไทยเชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ 3 แห่งฝรั่งเศส ทำนองเดียวกันด้วย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ต่อเรือกลไฟพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เรือรบกลไฟ เช่น เรือราญรุกไพรี ศรีอยุธยาเดช มหาพิชัยเทพ นับเป็นความสามารถของคนไทยสมัยนั้นจนรัฐบาลญี่ปุ่นเจรจาขอซื้อเรือรบกลไฟไปใช้ ทรงริเริ่มให้มีการจัดการฝึกทหารอย่างชาติยุโรป โดยจ้างนายร้อยเอก อิมเป เข้ามาจัดระเบียบทหารบก ทรงให้ผู้เชี่ยวชาญชาวยุโรปมาทำแผนที่พระราชอาณาจักรด้านตะวันออกริมฝั่งแม่น้ำโขง



เรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช เป็นประเภทเรือยอช์ททำด้วยไม้ ระวางขับน้ำ 600 ตัน ความยาว 212 ฟุต กว้าง 20 ฟุต ปืนใหญ่ 2 กระบอก เครื่องจักรข้าง 2 ปล่อง ความเร็วสูงสุด 12 นอต มีทหารประจำเรือ 90 นาย

แต่เดิมนั้นคนไทยยังไม่มีนาฬิกาบอกเวลา จะใช้กะลามะพร้าวลอยเจาะรูลอยในอ่างน้ำที่เรียกว่า "นาฬิกา" เมื่อน้ำไหลเข้ารูกะลาจนจมลงถือเป็น 1 ชั่วโมง คนนั่งยามจะตีฆ้องบอกเวลากลางวันจึงเรียกว่า "โมง" หากเป็นเวลากลางคืนจะใช้ตีกลองเรียกว่า"ทุ่ม" ซึ่งการแจ้งเวลาแบบนี้ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในปี พ.ศ. 2401 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยซึ่งตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวังเป็นพระที่นั่งทรงยุโรปสูง 5 ชั้นยอดบนสุดติดนาฬิกาขนาดใหญ่ 4 ด้านใช้เป็นนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทย โดยมีพนักงานนาฬิกาหลวงเทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ เรียกตำแหน่ง "พันทิวาทิตย์และพนักงานเทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์ เรียกตำแหน่ง "พันพินิตจันทรา" ซึ่งพระองค์ได้ทรงริเริ่มทำขึ้นก่อนประเทศอังกฤษ 22 ปี

นอกจากนี้พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง "หอชัชวาลเวียงชัย" ขึ้น ในบริเวณพระนครคีรี หรือเขาวัง พระราชวังสำหรับแปรพระราชฐาน อยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี หอชัชวาลเวียงชัย เป็นกระโจมทรงกลม หลังคาประดับด้วยกระจกโค้ง ห้อยโคมไฟมองเห็นได้ไกลจากทะเลใช้เป็นเสมือนประภาคารของนักเดินเรือที่จะเข้าอ่าวบ้านแหลมในเวลากลางคืนด้วย พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ ใช้เป็นที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในการรักษาเวลามาตรฐานของประเทศ โดยทรงสถาปนาเส้นแวงที่ 100 องศาตะวันออก ผ่านใกล้พระนครคีรีใช้เป็นเส้นแวงหลักของระบบเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะหอดูดาว 4 ชั้นในพระราชวังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตามแบบเดิม พระราชทานนามว่า "พระที่นั่งพิไสยศัลลักษณ์"

ในรัชสมัยของพระองค์ ได้ปรากฏดาวหางดวงใหญ่ 3 ดวงคือ ดาวหางฟลูเกอร์กูส์ ในปี พ.ศ. 2353 ดาวหางโดนาติ ( Donati) ในปี พ.ศ.2401 และดาวหางเทบบุท (Tebbutt) ในปี พ.ศ. 2404ทำให้ชาวบ้านต่างหวาดกลัวเพราะเชื่อว่าเป็นลางร้าย พระองค์ทรงออกประกาศเตือนล่วงหน้าและทรงอธิบายอย่างมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ว่าดาวหางเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมีผู้คนเห็นกันทั่วโลกไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น

พระอัจฉริยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ของพระองค์ปรากฏเด่นชัดขึ้น เมื่อทรงคำนวณว่าจะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 1 ค่ำเดือน 10 ปีมะโรง หรือวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2411 เห็นได้ที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ก่อนล่วงหน้าถึง 2 ปี ด้วยความรู้ทางด้านดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ชั้นสูงที่ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองกับระบบเวลามาตรฐานของไทยที่ทรงตั้งขึ้นโดยไม่มีหลักฐานว่ามีการคำนวณไว้ก่อนจากต่างประเทศ และยังแย้งกับตำราโหรของไทยว่าสุริยุปราคาไม่มีทางเห็นหมดดวง วันศุกร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2411พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารค โดยเรือพระที่นั่งอรรคราช-วรเดชจากท่านิเวศน์วรดิษฐ์ไปยังบ้านหว้ากอ พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา รวมทั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ(รัชกาลที่ 5)ขณะพระชนมายุ 16 พรรษา กับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชบริพาร จำนวนมาก ด้วยทรงตั้งพระปณิธานแน่วแน่ที่จะพิสูจน์ผลการคำนวณของพระองค์

วันสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยที่ 18 สิงหาคม 2411 เริ่มต้นอย่างไม่แจ่มใสนัก อากาศปรวนแปร มีเมฆมากหนาและฝนตกประปรายตั้งแต่เช้าทุกคนกังวลใจเกรงว่าจะไม่ได้เห็นปรากฏการณ์จน อีก 10 นาที ก่อนเกิดสุริยุปราคา ท้องฟ้าเริ่มใสกระจ่างขึ้น ไม่มีผู้ใดแลเห็นสุริยุปราคาตอนเริ่มจับ ซึ่งทรงพยากรณ์ไว้ว่าคราส เริ่มจับเวลา 10 นาฬิกา 4 นาที รอถึงเวลา 10 นาฬิกา 16 นาที เมฆจึงจางออกคราสจับมากขึ้นทุกทีท้องฟ้า ที่สว่างอยู่เริ่มมืดสลัวลง จนเมื่อเวลา 11 นาฬิกา 20 นาที ท้องฟ้ามืดลงจนมองเห็นดาวดวงสว่างได้ คราสจับ เต็มดวงเมื่อเวลา 11 นาฬิกา 36 นาที 20 วินาที

กินเวลานาน 6 นาที 45 วินาที ท้องฟ้ามืดจนเป็นเวลากลางคืน ไม่เห็นหน้าแม้ผู้อยู่ใกล้เป็นสุริยุปราคาเต็มดวง ตรงตามเวลาที่พระองค์ทรงคำนวณพยากรณ์ไว้ทุกประการ หลังจากนั้น ดวงจันทร์เริ่มเคลื่อนคลายออกจากดวงอาทิตย์ จนเมื่อเวลา 13 นาฬิกา 37 นาที 45 วินาที คราสก็คลายออกสิ้น ท้องฟ้าสว่างเป็นเวลากลางวันดังปกติ ปรากฏการณ์ครั้งนั้นพิสูจน์ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประสบความสำเร็จในการคำนวณสุริยุปราคาได้แม่นยำกว่านักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งคำนวณคลาดเคลื่อนไป 2 นาที



ในสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักโรคมาลาเรีย หรือไข้จับสั่นจึงไม่มีความระมัดระวังเรื่องนี้กันนักจนเมื่อถึงเวลา เดินทางกลับมีคนจำนวนมากติดเชื้อไข้มาลาเรีย รวมทั้งคนงานที่ทำการก่อสร้างเรือนพักรับรองทั้งหลาย ซึ่งอยู่ในพื้นที่เป็นเวลานานในจำนวนนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ และนักวิทยาศาสตร์อีก 8 คน ก็ติดเชื้อไข้มาลาเรียด้วย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวค่อนข้างมีพระอาการหนักกว่าผู้อื่น เมื่อเสด็จฯ กลับถึงเมืองหลวงทรงอ่อนพระกำลังมากแล้ว แพทย์หลวงได้พยายามถวายการรักษาเท่าใดพระอาการก็ทรุดลงทุกที พระองค์ทรงประชวรอยู่ 37 วันก็ เสด็จสวรรคตเมื่อเวลาประมาณ 21 นาฬิกา คืนวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคม 2411 สิริรวมพระชนมายุ 64 พรรษา ท่ามกลางความวิปโยค โศกสลดของเหล่าพสกนิกรของพระองค์

จากเหตุการณ์สำคัญ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชดำเนินทอดพระเนตรสุริยุปราคาเต็มดวง ทำให้ประชาชนชาวไทย และทั่วโลกได้ทราบถึงพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2525 เนื่องในโอกาสฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 200 ปี คณะนักวิทยาศาสตร์ไทยและสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มีมติให้วันที่ 18สิงหาคม เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ และถวายพระราชสมัญญานามแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"












สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า พระราชสมภพเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2434 (ก่อนปี 2484 วันขึ้นปีใหม่ของไทยตรงกับวันที่ 1 เม.ย. ดังนั้นเดือน ม.ค. 2534 ซึ่งเป็นเดือนพระราชสมภพยังคงนับตามปฏิทินเก่า เมื่อเทียบกับปฏิทินสากลที่ใช้ในปัจจุบันจึงตรงกับ ม.ค.2435)

ทรงศึกษาในโรงเรียนราชกุมารตั้งแต่ก่อนโสกันต์จนถึงพระชนมายุได้ 13 ปี 4 เดือน เป็นที่น่าอัศจรรย์ด้วยว่าพระชนมายุยังน้อย ทว่าทรงมีความรู้กว้างขวางในภาษาไทยยิ่งนัก และทรงศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก แต่เป็นเพียงเพื่อทรงรับการฝึกหัดท่ามือเปล่าให้ได้ทรงรู้จักกิริยาท่าทางของทหารบ้างเท่านั้น มิได้ทรงเข้าศึกษาวิชชาในชั้นต่างๆ

เมื่อพฤษภาคม พ.ศ.2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ ในส่วนสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสนั้น ได้เสด็จไปทรงเริ่มเล่าเรียนที่ประเทศอังกฤษก่อนทุกพระองค์ จึงได้เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสอีก 3 พระองค์ ทรงเล่าเรียนที่โรงเรียนแฮโรว์ ต่อมาพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯโปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสได้แยกย้ายกันไปศึกษาวิชชาการทหาร ณ

ประเทศเยอรมัน และด้วยความรู้ภาษาอังกฤษที่ได้ศึกษามานั้น นับเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการศึกษาวิชชาในกองทัพเรือ ทูลกระหม่อมได้ทรงศึกษาตั้งแต่เป็นคะเด็ตทหารเรือ จนเลื่อนยศเป็นเรือตรีรวมเวลาทั้งสิ้น 3 ปีครึ่ง จึงจะนับว่ามีความรู้ความชำนาญ เป็นเรือตรีแห่งราชนาวีเยอรมันได้ เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ตามที่ทรงปรารถนาที่จะลงประจำเรือรบแห่งราชนาวีเยอรมัน เพื่อดูการปฏิบัติการจริง จึงได้ทรงเสด็จกลับประเทศ

จากนั้นเสด็จกลับเข้ามารับราชการในกองทัพเรือ ต่อมาทรงมีอาการประชวรเรื้อรัง ไม่ทรงสามารถรับราชการหนัก เช่นการทหารเรือได้ ประกอบกับทรงพระดำริว่า ยังมีกิจการอย่างอื่นที่ทรงเห็นว่าสำคัญ และจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่า คือ การสาธารณสุข และการแพทย์ ดังนั้นพระองค์ท่านจึงได้กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ลาออกจากราชการทหารเรือแล้วเสด็จออกไปยังต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการสาธารณสุขและวิชาแพทย์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีพระราชดำรัสก่อนที่จะเสด็จไปศึกษาวิชาการแพทย์ต่อที่ต่างประเทศว่า" ฉันจะไปเรียนหมอหละ เพราะเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนได้ทั้งคนจนคนมั่งมี และเจ้านายต่าง ๆ ได้เต็มที่ หมอทำการกุศล ในการรักษาพยาบาลได้ดี เมืองไทยเราถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้างเขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่ามัวแต่รักษาพระเกียรติอยู่ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน" ทรงสอบได้ประกาศนียบัตรการสาธารณสุข และปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยม จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกสวรรคตเมื่อ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 รวมพระชนมายุ 37 พรรษา 8 เดือน 23 วัน

21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกได้เสด็จสวรรคต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล บรรดาศิษย์เก่าศิริราช ผู้ที่ได้รับทุนของพระองค์ไปศึกษา ณ ต่างประเทศ ผู้ที่เคยได้รับพระมหากรุณาในประการอื่นๆ ตลอดจนประชาชนผู้สนใจทั่วไปไ ด้ร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ประดิษฐานไว้ ณ โรงพยาบาลศิริราช เพื่อเป็นการร่วมกันน้อมสำนึกพระเมตตาคุณพระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง และมีศาสตราจารย์ศิลป พีรพศรี เป็นผู้ควบคุมงาน

โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชนุสาวรีย์เมื่อวันที 24 เมษายน พ.ศ. 2493 พระราชานุสาวรีย์นี้ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมครั้งแรกเมื่อปี 2517 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสร้างรากฐานและบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ถาวร สง่างามและสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้

นอกเหนือจากพระราชกรณียกิจที่ได้รทรงบำเพ็ญแก่วงการแพทย์ และการสาธารณสุขแล้ว พระองค์ก็ทรงมีคุณูปการแก่กองทัพเรืออย่างใหญ่หลวง กองทัพเรือยังถือว่าใน "วันมหิดล" จะเป็นวันที่ร่วมรำลึกถึง จอมพลเรือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อกองทัพเรือเป็นอเนกอนันต์ กองทัพเรือจึงได้จัดพิธีทำบุญวันมหิดลเป็นประจำทุกปี ตอนปลายเดือนมีนาคมนั้นเอง ทูนกระหม่อมได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นร้อยโท ในราชนาวี และได้ทรงรับราชการในกระทรวงทหารเรือตั้งแต่เดือนเมษายน จนถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2458 เป็นเวลาทั้งสิ้น 9 เดือนครึ่ง

ถึงแม้พระองค์ทรงเข้ารับราชการในกองทัพเรือเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ด้วยความที่ทรงเชี่ยวชาญทางเรือดำน้ำและเรือตอร์ปิโดรักษาฝั่ง สายพระเนตรอันกว้างไกลพระองค์ได้ทรงเสนอแนวคิดและโครงการสร้างกองเรือรบที่กองทัพเรือควรจะมีไว้ประจำการต่อเสนาธิการทหารเรือ จึงทำให้เกิดการสร้างกำลังรบทางเรือไว้ป้องกันประเทศชาติในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งการมีเรือดำน้ำและเรือรบประเภทต่าง ๆนั้นทำให้ประเทศไทยสามารถป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างมีศักยภาพและรักษาสันติสุขของชาติไว้ได้อย่างมั่นคง ดั่งที่ทหารเรือทั่วโลกในเวลานี้ต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญ





พระราชวรวงค์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระโอรสในกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ และจอมมารดาเลี่ยม (เล็ก) ประสูติเมื่อวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด จุลศักราช 1238 ตรงกับวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2419 มีพระนามว่า พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส (ต้นสกุล “รัชนี”) ทรงมีเจ้าพี่ผู้ร่วมจอมมารดาเดียวกันพระองค์หนึ่ง พระนามว่า พระองค์เจ้าหญิงภัททาวดีศรีราชธิดา แต่สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 28 ปี

พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ได้ทรงร่ำเรียนหนังสือตั้งแต่เยาว์พระชันษา ทรงมีความสนพระทัยและมีสติปัญญาสามารถมาก เพราะปรากฎว่าทรงศึกษาถึงขั้น “อ่านออกเขียนได้” อย่างรวดเร็ว ยิ่งกว่านั้น เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 5 ขวบเท่านั้น ก็ใฝ่พระทัยค้นหาเอาโครงกลอนมาอ่านตลอดจนร้อยแก้ว เรื่องที่ได้รับความนิยมอยู่ในสมัยนั้น เช่น เรื่องอิเหนา รามเกียรติ์ สามก๊ก และเรื่องจีนอื่นๆ นอกจากนั้นยังได้ทรงศึกษาหนังสือขอมด้วย โดยทรงศึกษาจากเจ้าพี่ผู้มีพระชันษาแก่กว่า 5 ปี อิทธิพลของหนังสือขอมแผ่ซ่านทั่วไปในวงวรรณกรรมของไทยแทบทุกแห่ง ดังนั้น เมื่อพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสและเจ้าพี่อ่านและเขียนได้ครั้งแรก ความทราบถึงพระกรรณของพระราชวังบวรฯ ผู้เป็นพระบิดาก็ไม่ทรงเชื่อ เพราะเข้าพระทัยว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่พระธิดาและพระโอรสซึ่งมีพระชันษาเพียงเท่านั้นจะทรงอ่านหนังสือขอมได้จริง โดยพระโอรสพระชันษาน้อย ขนาดหนังสือไทยก็ควรจะอ่านและเขียนไม่ได้ด้วยซ้ำไป พระบิดาจึงทรงใคร่ทดลองด้วยการโปรดฯ ให้เฝ้าโดยไม่แจ้งพระประสงค์ให้ทราบล่วงหน้า และประทานหนังสือขอมอันเป็นคัมภีร์ใบลานให้ทดลองอ่าน ปรากฎว่าพระธิดาและพระโอรสสามารถอ่านได้ดังคำเล่าลือ ส่วนอัจฉริยะในขั้นตอนไปของพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ก็คือในขณะที่ยังมีพระชันษา 5 ขวบ ทรงสามารถแต่งโคลงกลอนได้บ้างแล้วด้วย

ในปี พ.ศ. 2429 พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัสได้ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ และทรงอยู่ที่โรงเรียนเป็นประจำ เสร็จกลับวังเฉพาะวันพระ ทรงเรียนอยู่เพียงปีเศษจบการันต์ คือ จบชั้นสูงสุดในประโยค 1 และในระหว่างนี้ทรงเรียนภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย และทรงเรียนจบประโยค 2 เมื่อ พ.ศ. 2434 ทรงสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ได้รับพระราชทานหีบหนังสือเป็นรางวัล จากนั้นได้เรียนภาษาอังกฤษต่อไปจนจบหลักสูตรการเรียนของโรงเรียนสวนกุหลาบ เมื่อทรงสำเร็จวิชาการโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว พระชันษายังน้อยเกินกว่าที่จะรับราชการ จึงเสด็จเข้าเรียนภาษาอังกฤษต่อที่สำนักอื่นอีกแห่งหนึ่งจน พ.ศ.2436 ได้เสด็จเข้ารับราชการในตำแหน่งนายเวรกระทรวงธรรมการ ขณะนั้นพระชันษา 16 ปี 3 เดือน ต่อมาได้ทรงเลื่อนข้นเป็นผู้ช่วยในกรมศึกษาธิการใน พ.ศ. 2438 ทั้งได้ทรงรับหน้าที่พิเศษเป็นข้าหลวงสอบไล่วิชาหนังสือไทยด้วย และทรงเป็นกรรมการพิเศษร่างพระราชบัญญัติพิจารณาความแพ่งอีกหน้าที่หนึ่งขณะที่ทรงรับราชการอยู่กระทรวงธรรมการ 2 ปีเศษนั้น พระองค์มิได้ทรงฝักใฝ่อยู่แต่หน้าที่ราชการประจำอย่างเดียว ยังสนพระทัยที่จะแสวงหาความรู้ทางภาษาอังกฤษเพิ่มเติมอยู่มิได้ขาดอีกด้วย โดยทรงกระทำพระองค์สนิทชิดชอบกับที่ปรึกษากระทรวงและข้าราขการอื่นๆ ที่เป้นชาวอังกฤษ ทั้งในเวลาราชการและนอกเวลาราชการ ความพยายามเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งเพิ่มพูนความรู้ทางภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีที่สุดทั้งสิ้น จนทำให้พระองค์ทรงคุ้นกับขนบธรรมเนียมและตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ด้วยเหตุนี้จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระองค์เจ้ารัชนีจากกระทรวงธรรมการมาเป็นผู้ช่วยที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2439 ในที่สุดพระองค์ท่านก็กลายเป็นผู้ถูกอัธยาศัยอย่างมากกับที่ปรึกษากระทรวงพระคลังมหาสมบัติซึ่งเป็นชาวอังกฤษ ที่ปรึกษาถึงกับทูลปรารภต่อเสนาบดีว่าควรส่งคนหนุ่มอย่างพระองค์ท่านไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษเสียพักหนึ่งก็จะได้คนดีที่สามารถใช้ในราชการ เสนาบดีทรงเห็นชอบด้วยและทรงมีพระดำริอยู่แล้ว ในวันที่ 1 เม.ย. พ.ศ.2440 พระองค์เจ้ารัชนีทรงย้ายมามีตำแหน่งเป็นล่ามที่กระทรวงพระคลังและได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จพระราชดำเนินประพาสทวีปยุโรป เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ปีนั้น และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เสด็จอยู่ทรงเล่าเรียนต่อในประเทศอังกฤษ ผู้ดูแลนักเรียนหลวงจัดให้ท่านไปเรียนอยู่ที่แฟมิลี่ ต่อมาถึงแม้จะมีเวลาในการเตรียมพระองค์ไม่มากนัก แต่ด้วยทรงมีความวิริยะอุสาหะและตั้งพระทัยอย่างแน่วแน่ ทำให้ทรงสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ได้ ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยก็ทรงกอบโกยหาความรู้ใส่พระองค์อยู่ตลอดเวลา แต่ทรงศึกษาอยู่เพียง 3 เทอม ก็ถูกเรียกตัวกลับประเทศไทย คือในวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2442 พระองค์ท่านได้เสด็จเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยกรมตรวจแลกรมสารบัญชี ในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2444 ได้ทรงย้ายไปมีตำแหน่งเป็นปลัดกรมธนบัตร ซึ่งเป็นเวลาที่กระทรวงพระคลังเริ่มจะจัดพิมพ์ธนบัตรออกใช้แทนเงินกษาปณ์เป็นครั้งแรก พระองค์เจ้ารัชนีจึงได้รับมอบให้จัดตั้งระเบียบราชการในกรมใหม่นั้นขึ้น ได้ทรงเป็นแม่กองปรึกษากันในการคิดแบบลวดลายและสีของธนบัตรแต่ละชนิด ทรงมีส่วนในการตราพระราชบัญญัติเงินตราสมัยนั้นการวางกฎเสนาบดีในการควบคุมธนบัตรและทรงวางหลักบัญชี เป็นต้น ธนบัตรที่จัดพิมพ์ขึ้นครั้งนั้นมีอัตราใบละ 1,000 บาท 100 บาท 20 บาท 10 บาท 5 บาท ส่วนอัตรา 1 บาท ยังคงใช้เหรียญตรากษาปณ์อยู่อย่างเดิมและได้นำธนบัตรออกจำหน่ายเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันเปิดกรมธนบัตร ต่อจากนั้นอีก 5 เดือน คือในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2446 พระองค์เจ้ารัชนี ก็ทรงเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้แทนเจ้ากรมธนบัตร และได้ทรงย้ายไปทรงเป็นเจ้ากรมกองที่ปรึกษาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2446 เสด็จอยู่ในตำแหน่ง นั้นได้ 14 เดือน ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2447 ทรงย้ายไปรับราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมกษาปณ์สิทธิการ ราชการในกรมกษาปณ์สมัยนั้น มีความมุ่งหมายอันสำคัญ คือ การจัดงานและการควบคุมการทำเหรียญตรากษาปณ์ให้มีปริมาณมากพอและให้มีคุณสมบัติดีพอแก่ความต้องการของราชการ เมื่อพระองค์เจ้ารัชนีผู้เสด็จเข้าไปรับงานนี้ ทรงเป็นพระธุระแก้ไขปัญหาต่างๆ ทำให้การดำเนินงานสำเร็จเรียบร้อยตามความมุ่งหมาย และงานทั้งสิ้นที่ทรงจัดขึ้นใหม่ในกรมกษาปณ์ครั้งนั้น เป็นที่ต้องพระประสงค์ของเสนาบดีเป็นอันมาก แต่พระองค์เจ้ารัชนีทรงปฏิบัติราชการแผนกนั้นอยู่ 3 ปีเศษ ก็มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระองค์เจ้ารัชนีมาเป็นอธิบดีกรมตรวจแลกรมสารบัญชี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2451 และทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตรวจแลกรมสารบัญชีซึ่งเป็นกรมใหญ่และสำคัญกรมหนึ่งในกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ อยู่จนสิ้นรัชกาลที่ 5 และทรงดำรงตำแหน่งเดิมนั้นต่อไปอีก 5 ปี ในรัชกาลที่ 6 (ภายหลังกรมตรวจแลกรมสารบัญชีเปลี่ยนชื่อเป็นกรมบัญชีกลาง)

รวมเวลาที่พระองค์เจ้ารัชนี ทรงรับราชการในราชกาลที่ 5 เป็นเวลา 17 ปี จนมีพระชันษาได้ 33 ปี ใน พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระองค์เจ้ารัชนีเป็นองคมนตรี

เนื่องด้วยพระองค์เจ้ารัชนีทรงมีพระสติปัญญาสามารถในราชการและเป็นผู้แตกฉานทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นกวีที่มีสำนวนพิเศษ ดังนั้นในปี พ.ศ.2456 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศพระองค์เจ้ารัชนี เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมมีพระนามจาฤกในพระสุพรรณบัฎว่าพระราชรววงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์มุกสิกนาม ทรงศักดินา 11,000 ไร่ ตามพระราชกำหนดพระองค์เจ้าต่างกรมในพระราชวังบวร

ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2458 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกกรมสถิติพยากรณ์ขึ้นเป็นกรมบัญชาการชั้นมีอธิบดีเป็นหัวหน้า อยู่ในสังกัดกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีชื่อว่า “กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์” ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นอธิบดี ต่อมาได้เริ่มจัดงานสำคัญขึ้นอีกแผนกหนึ่ง ด้วยคำนึงว่าชาวนาเป็นส่วนสำคัญของการพาณิชย์ เพราะข้าวเป็นสินค้าสำคัญของประเทศ แต่ชาวนามีหนี้สินมาก ทำนาได้ข้าวมามากน้อยเท่าใดก็ต้องขายใช้หนี้เกือบหมด ถึงกระนั้นหนี้สินก็ยิ่งพอกพูน กรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์เห็นด้วยการช่วยกู้ฐานะชาวนาให้พ้นอุปสรรคคือ วิธีการจัดตั้งสหกรณ์ ซึ่งก็รวมเข้าในวิธีการส่วนหนึ่งแห่งการอุดหนุนพาณิชย์ของประเทศด้วย ส่วนงานข่าวพาณิชย์ก็เป็นงานอีกแผนกหนึ่งที่มีความมุ่งหมายที่จะรวบรวมความรู้ในกิจการทุกอย่างทางพาณิชย์และดำเนินการช่วยเหลือในพาณิชย์ของประเทศเจริญยิ่งๆขึ้น นอกจากงานต่างๆ ดังกล่าว ก็มีการจัดตั้งสถานจำแนกความรู้ทางพาณิชย์ โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ความรู้แก่มหาชนผู้ริเริ่มจะกระทำการพาณชย์ งานส่วนหนึ่งในแผนกนี้คือ การจัดตั้งศาลาแยกธาตุ กรมพาณิชย์ฯ เห็นว่าต่อไปภายหน้า การแยกธาตุจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งแก่การค้าของบ้านเมือง เอกชนหรือพ่อค้าต้องอาศัยความรู้ทางการแยกธาตุมากขึ้นทุกที จึงรับกองแยกธาตุของกรมกษาปณ์มาขยายงานให้ใหญ่ออกไป ได้จัดหาเครื่องมือต่างๆจนครบถ้วน และจัดให้มีเจ้าพนักงานผู้มีความรู้มาประจำมากขึ้นมีชื่อว่า “ศาลาแยกธาตุของรัฐบาล” (บัดนี้เรียกกรมวิทยาศาสตร์) และเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2460 ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมันและฮังการีคือ สงครามโลกครั้งที่ 1 อธิบดีกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานผู้พิทักษ์ทรัพย์ของชนชาติศัตรู พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ต้องทรงรับหน้าที่นี้โดยตำแหน่ง พระองค์ทรงได้รับการสรรเสริญว่า พิทักษ์ทรัพย์ด้วยความสุจริตยุติธรรมและรอบคอบในระหว่างที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้นเป็นกรมชั้นมีอธิบดีเป็นหัวหน้าราชการบางอย่างได้หยุดชะงักไปชั่วควาว เพราะอธิบดีและข้าราชการหลายคนในกรมฯ ติดราชการผู้พิทักษ์ทรัพย์ศัตรูซึ่งต้องใช้เวลาเป็นปีๆ แต่เมื่อราชการผู้พิทักษ์ทรัพย์ค่อยเรียบร้อยลงก็เริ่มแข่งขันทางการพาณิชย์ต่อไป กรมพาณิชย์ฯ ได้ขยายงานกว้างขวางออกไปอีกหลายแผนกด้วยอธิบดีกรมพาณิชย์ฯ ทรงเห็นการณ์ไกลว่า พาณิชย์ของประเทศย่อมขยายวงกว้างออกไปทุกทีตามความเจริญของบ้านเมือง และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศแต่งตั้งกรมพาณิชย์และสถิติพยากรณ์ขึ้นเป็น “กระทรวงพาณิชย์” เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ให้อยู่ความควบคุมของสภาเผยแพร่พาณิชย์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นอุปนายกแห่งสภานั้น ในปี พ.ศ. 2464 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งให้พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์เป็นรองเสนาบดี กระทรวงพาณิชย์ ทรงมีตำแหน่งในที่ประชุมเสนาบดีสภาตั้งแต่ พ.ศ.2463 จนถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2468 อันเป็นการประชุมเสนาบดีครั้งสุดท้ายในรัชกาลที่ 6

พ.ศ. 2465 สภานายกแห่งสภาเผยแผ่พาณิชย์ได้มีรับสั่งให้ พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ผู้เป็นนายทะเบียนสหกรณ์พร้อมด้วยมิสเตอร์เลอเมย์ที่ปรึกษาหลวงพิจารณ์พาณิชย์ และหลวงประกาศสหกรณ์ออกไปดูงานสหกรณ์ที่ประเทศพม่าและอินเดียเป็นเวลา 5 เดือนเศษ เมื่อเสร็จกลับทรงเขียนรายงานเสนอต่อสภานายกในเรื่องสหกรณ์แบบต่างๆ ที่เสด็จไปพิจารณามา ทรงชี้แจงว่าสหกรณ์ในสองประเทศนั้นมีประเทศใดบ้าง ประเทศไหนควรจะนำมาจัดได้ในประเทศนี้ ก็ได้ทรงรายงานไว้ถี่ถ้วนตอนหนึ่งในรายงานนั้นทรงกล่าวว่า ประเทศเราเคราะห์ดีที่จัดสหกรณ์ด้วยความรอบคอบที่สุดและจัดที่หลังประเทศอื่นๆ แทบทั่วโลก ข้อบกพร่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องสหกรณ์ เราจึงป้องกันได้ทุกทาง ด้วยทราบเยี่ยงอย่างความบกพร่องที่เกิดขึ้นแล้วแก่สหกรณ์ประเทศนั้นๆ เช่น การควบคุมทางกฎข้อบังคับและทางกฎหมายเป็นต้น ในที่สุดทรงยืนยันว่า สหกรณ์ที่จัดขึ้นในประเทศไทยนี้ไม่ผิดพลาดอย่างใดอย่างหนึ่งเลย

นอกจากงานสหกรณ์ที่พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นผู้ปูพื้นฐานและทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่แล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีหน้าที่สำคัญๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอีกหลายประการ คือ

-ทรงเป็นอุปนายกหอพระสมุดแห่งชาติ

-ทรงเป็นกรรมการร่างกฎหมาย

-ทรงเป็นกรรมการสภากาชาด

-ทรงเป็นายกสมาคมลอนเทนนิสแห่งประเทศไทย

-ทรงเป็นกรรมการองคมนตรีสภา

-ทรงเป็นสภานายกแห่งราชบัณฑิตยสภา

พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นนักหนังสือพิมพ์ นักประพันธ์ และกวีที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ทรงใช้พระนามแฝงว่า น.ม.ส ทรงนิพนธ์เรื่องสำคัญๆ ไว้หลายเรื่อง เช่น จดหมายจาง
วางหร่ำ พระนลคำฉันท์ นิทานเวตาล เป็นต้น

ในด้านชีวิตส่วนพระองค์ของพระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเษกสมรสกับหม่อมเจ้าหญิงพรพิมลพรรณ (วรวรรณ) ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปพันธ์พงศ์ทรงมีพระราชธิดาและพระโอรสคือ

1. หม่อมเจ้าวิภาวดี รังสิต

2. หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี

พระราชวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคหลอดโลหิตในสมองตัน เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2488 เวลา 15.30 น. สิริพระชนมายุได้ 68 ปี 6 เดือน 13 วัน






สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช




สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือพระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชสมภพ ณ วันอาทิตย์ เดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำ ปีขาล จุลศักราช 1096 ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระนามเดิมว่า สิน (หลักฐานจีนเรียก เซิ้นเชิ้น ชิน หรือ สิน) บิดาชื่อนายไหฮอง (หลักฐานจีนเรียก เซิ่น หยง หรือ เซ่นยัง มาจากเมืองเฉาโจว แซ่แต้ เมื่อถึงเมืองไทยเปลี่ยนชื่อเป็น ยั้ง) เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนพัฒน์ มารดาชื่อ นกเฮี้ยง ( ต่อมาได้สถาปนาขึ้นดำรงพระราชอิสริยยศเป็นกรมพระเทพามาตย์ หลักฐานจีนเรียก ลั่วยั้ง หรือนางนกยาง) ตั้งบ้านเรือนตรงหน้าบ้านเจ้าพระยาจักรีสมุหนายกครั้งนั้น



เมื่อยังทรงพระเยาว์ เจ้าพระยาจักรีได้ขอเอาไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมและได้ตั้งชื่อว่า สิน พออายุได้ 9 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส เรียนหนังสือขอมไทยจนจบบริบูรณ์ แล้วเรียนคัมภีร์พระไตรปิฏก

ครั้นอายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้นำเข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบรมโกศ รับราชการอยู่เวรหลวงนายศักดิ์ ระหว่างนี้ได้ศึกษาภาษาจีน ภาษาญวน ภาษาแขก จนสามารถพูดได้สามภาษาอย่างคล่องแคล่ว

ครั้นอายุได้ 21 ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดการอุปสมบทอยู่ในสำนักอาจารย์ทองดี ณ วัดโกษาวาส อุปสมบทอยู่ 3 พรรษา แล้วจึงลาสิกขากลับเข้ารับราชการตามเดิม ได้รับตำแหน่งเป็นมหาดเล็กรายงาน

ในปี พ.ศ. 2301 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จสวรรคต พระที่นั่งสุริยามรินทร์ ( สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ) ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงเชิญท้องตราขึ้นไปชำระความหัวเมืองฝ่ายเหนือ ต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก (ในขณะที่รับราชการอยู่เมืองตากนั้น ได้มีนายทองดี เข้าราชการเป็นทหารคู่ใจ ภายหลังพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระยาพิชัยดาบหัก) ต่อมาเจ้าเมืองตากถึงแก่กรรมลง จึงทรงโปรดให้เลื่อนขึ้นเป็น พระยาตาก

ในปี พ.ศ. 2308 พม่าได้นำกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา พระยาตากได้มาช่วยทำการสู้รบกับข้าศึกด้วยความเข้มแข็ง มีความดีความชอบมาก จึงโปรดให้เลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็น พระยาวชิรปราการ ผู้สำเร็จราชการเมืองกำแพงเพชร แต่ยังมิทันได้ออกไปครองเมือง ด้วยติดพันกับการทำศึกกับพม่าอยู่ ระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ป้องกันกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น พระยาวชิรปราการ (สิน) ทำการสู้รบอย่างเข้มแข็งและสามารถรบชนะพม่าหลายต่อหลายครั้งก็ตาม แต่ก็มีสาเหตุที่ทำให้ท่านเกิดความท้อแท้ใจ อันเกิดจากการอ่อนแแอของผู้บัญชาการและขาดการประสานงานที่ดีระหว่างแม่ทัพนายกองต่าง ๆ เช่น

ครั้งแรก พระยาตากคุมทหารออกไปรบนอกเมือง และสามารถทำการรบมีชัย ยึดค่ายจากพม่าได้ แต่ทางผู้รักษาพระนครไม่ส่งกำลังหนุนออกไปให้ พระยาตากต้องเสียค่ายคืนให้แก่ข้าศึกไป จึงทำให้พระยาตากเสียกำลังใจในการทำงานเป็นอันมาก

ครั้งที่สองพระยาตากได้รับบัญชาให้ยกทัพเรือออกไปรบพร้อมกับพระยาเพชรบุรี ครั้นยกออกไปถึงแล้ว พระยาตากเห็นว่าพม่ามีกำลังเหนือมากกว่านัก จึงห้ามพระยาเพชรบุรีมิให้ออกรบ แต่พระยาเพชรบุรีไม่เชื่อฟัง ขืนออกรบจนได้ จึงพ่ายแพ้แก่ข้าศึกจนตัวตายในที่รบ พระยาตากจึงถูกกล่าวหาว่าทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย

ครั้งที่สาม ก่อนเสียกรุงประมาณ 3 เดือน พม่ายกเข้าปล้นพระนครทางด้านที่พระยาตากรักษาการณ์อยู่ พระยาตากเห็นเป็นการจวนตัว จึงใช้ปืนใหญ่ยิงขัดขวาง โดยมิทันได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุนเสียก่อน จึงถูกฟ้องและถูกชำระโทษ แต่หากที่พระยาตากได้ปฏิบัติราชการมีความชอบมากจึงได้รับการภาคทัณฑ์ไว้

เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) เล็งเห็นว่าถึงแม้จะอยู่ช่วยรักษาพระนครต่อไปก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด พม่าก็ตั้งล้อมพระนครกระชั้นเข้ามาทุกขณะจนถึงคูพระนครแล้ว กรุงศรีอยุธยาคงไม่พ้นเงื้อมมือพม่าเป็นแน่แท้ ไพร่ฟ้าข้าทหารในพระนครก็อิดโรยลงมาก เนื่องจากขัดสนเสบียงอาหาร ทหารไม่มีกำลังใจในการสู้รบ ดังนั้นพระยาวชิรปราการ (สิน) จึงตัดสินใจร่วมกับพระยาพิชัยอาสา พระเชียงเงิน หลวงพรหมเสนา หลวงราชเสน่หา ขุนอภัยภักดี และพรรคพวกรวม 500 คน ยกกำลังออกจากค่ายวัดพิชัย ตีฝ่าพม่าไปทางทิศตะวันออก เวลาค่ำในวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ ปีจอ พ.ศ. 2309 ตรงกับวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2309

ทัพพม่าได้ส่งทหารไล่ติดตามพระยาวชิรปราการ (สิน) และพรรคพวกมาทันกันในวันรุ่งขึ้นที่ บ้านโพธิ์สังหาร พระยาวชิรปราการได้นำพลทหารไทยจีนเข้ารบกับทหารพม่าเป็นสามารถจนทหารพม่าแตกพ่ายไป และยังได้ยึดเครื่องศาตราวุธอีกเป็นจำนวนมากแล้วออกเดินทางไปตั้งพักที่ บ้านพรานนก เพื่อหาเสบียงอาหาร ระหว่างที่ทหารพระยาวชิรปราการหาเสบียงอาหารอยู่นั้น ได้พบทัพพม่าจำนวนพลขี่ม้าประมาณ 30 ม้า พลเดินเท้าประมาณ 2,000 คน ยกทัพสวนทางมาจากบางคาง เขวงเมืองปราจีนบุรี เพื่อเข้ารวมพลตีกรุงศรีอยุธยาในโอกาสต่อไป ทหารพระยาวชิรปราการจึงหนีกลับมาที่บ้านพรานนก โดยมีทหารพม่าไล่ติดตามมาอย่างกระชั้นชิดและชะล่าใจ พระยาวชิรปราการจึงให้ทหารซึ่งเป็นพลเดินเท้าแยกออกเป็นปีกกาเข้าตีโอบพม่าทั้งสองข้าง ส่วนพระยาวชิรปราการกับทหารอีก 4 คน ก็ขี่ม้าตรงเข้าไล่ฟันทหารพม่าซึ่งนำทัพมาอย่างไม่ทันรู้ตัวก็แตกร่นไปถึงพลเดินเท้า พวกทหารพระยาวชิรปราการได้ทีเข้ารุกไล่ฆ่าฟันทหารพม่าจนแตกพ่ายไป การชนะในครั้งนี้ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้ทหารพระยาวชิรปราการเป็นอย่างมากในโอกาสสู้รบกับพม่าในโอกาสต่อไป

พวกราษฎรที่หลบซ่อนเร้นพม่าอยู่ได้ทราบกิติศัพท์การรบชนะของพระยาวชิรปราการ (สิน) ต่อทหารพม่าต่างก็พากันมาขอเข้าเป็นพวก และได้เป็นกำลังสำคัญในการเกลี้ยกล่อมผู้ที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้านายซ่องต่าง ๆ มาอ่อนน้อม ขุนชำนาญไพรสณฑ์และนายกองช้างเมืองนครนายกมีจิตสวามิภักดิ์ ได้นำเสบียงอาหารและช้างม้ามาให้เป็นกำลังเพิ่มขึ้น ส่วนนายซ่องใหญ่ซึ่งมีค่ายคูยังทะนงตนไม่ยอมอ่อนน้อม พระยาวชิรปราการก็คุมทหารไปปราบจนได้ชัยชนะ แล้วจึงยกทัพผ่านเมืองนครนายกข้ามลำน้ำเมืองปราจีนบุรีไปตั้งพักที่ชายดงศรีมหาโพธิ์ข้างฟากตะวันตก

ทหารพม่าเมื่อแตกพ่ายไปจากบ้านพรานนกแล้วก็กลับไปรายงานนายทัพที่ตั้งค่าย ณ ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งกองทัพพม่ากองสุดท้ายที่รวบรวมกำลังกันตั้งทัพบก ทัพเรือไปรอดักพระยาวชิรปราการอยู่ ณ ที่นั้น และตามทัพพระยาวชิรปราการทันกันที่ชายทุ่ง พระยาวชิรปราการเห็นว่าจะต่อสู้ข้าศึกซึ่ง ๆ หน้าไม่ได้ อีกทั้งมีกำลังน้อยกว่ายากที่จะเอาชนะแก่พม่าได้ จึงเลือกเอาชัยภูมิพงแขมเป็นที่กำบังแทนแนวค่าย และแอบตั้งปืนใหญ่น้อยรายไว้หมายเฉพาะทางที่จะล่อพม่าเดินเข้ามา แล้วพระยาวชิรปราการก็นำทหารประมาณ 100 คนเศษคอยรบพม่าที่ท้องทุ่ง ครั้นเมื่อรบกันสักพักหนึ่งก็แกล้งทำเป็นถอยหนีหนีเข้าไปในช่องพงแขมที่ตั้งปืนใหญ่เตรียมไว้ ทหารพม่าหลงกลอุบายรุกไล่ตามเข้าไปก็ถูกทหารไทยระดมยิงและตีกระหนาบเข้ามาทางด้านหน้า ขวา และซ้าย จนทหารพม่าไม่มีทางจะต่อสู้ได้ต่อไปทำให้ทหารพม่าล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่รอดตายต่างถอยหนีอย่างไม่เป็นกระบวน ก็ถูกพระยาวชิรปราการนำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันล้มตายอีก นับตั้งแต่นั้นมา ทหารพม่าก็ไม่กล้าจะติดตามพระยาวชิรปราการอีกต่อไป

เมื่อพระยาวชิรปราการ (สิน) ได้ชัยชนะพม่าแล้วได้ยกทัพผ่านบ้านทองหลาง พานทอง บางปลาสร้อย บ้านนาเกลือ เขตเมืองชลบุรี ต่างก็มีผู้คนเข้าร่วมสมทบมากขึ้น จนมีรี้พลเป็นกองทัพ จากนั้นพระยาวชิรปราการก็เดินทางไปเมืองระยอง โดยหมายจะเอาเมืองระยองเป็นที่ตั้งมั่นต่อไป ครั้นถึงเมืองระยอง พระยาระนองชื่อบุญ เห็นกำลังพลของพระยาวชิรปราการมีจำนวนมากยากที่จะต้านทานได้จึงพากันออกมาต้อนรับ พระยาวชิรปราการจึงตั้งค่ายที่ชานเมืองระยอง ขณะนั้นพวกกรมการเมืองระยองหลายคนแข็งข้อคิดจะสู้รบ จึงได้ยกกำลังเข้าปล้นค่ายในคืนวันที่สองในการหยุดพัก แต่พระยาวชิรปราการรู้ตัวก่อนจึงได้ดับไฟในค่ายเสียไม่ให้โห่ร้องหรือยิงปืนตอบรอจนพวกกรมการเมืองเข้ามาได้ระยะทางปืน พระยาวชิรปราการก็สั่งยิงปืนไปที่พวกที่จะแหกค่ายด้านวัดเนิน พวกที่ตามหลังมาต่างก็ตกใจและถอยหนี พระยาวชิรปราการคุมทหารติดตามไปเผาค่ายและยึดเมืองระยองได้ในคืนนั้น

การที่พระยาวชิรปราการ (สิน) เข้าตีเมืองระยองได้และกรุงศรีอยุธยายังมิได้เสียทีแก่พม่าแต่ประการใด จึงถือเสมือนเป็นผู้ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้น พระยาวชิรปราการก็ระวังตนมิได้คิดตั้งตัวเป็นกบฏ และเรียกคำสั่งว่า “พระประศาสน์” อย่างเจ้าเมืองเอก พวกบริวารจึงเรียกว่า พระยาตาก ตั้งแต่นั้นมา

เมื่อเจ้าตากตั้งตนเป็นอิสระที่เมืองระยอง ส่วนเมืองอื่น ๆ ทางหัวเมืองชายทะเลตะวันออกนับตั้งแต่เมืองบางละมุง เมืองชลบุรี เมืองจันทบุรี เมืองตราด ต่างก็ยังเป็นอิสระ เจ้าตากจึงมีความคิดที่จะรวบรวมเมืองต่าง ๆ เหล่านี้ไว้เป็นพวกเดียวกันเพื่อช่วยกันปราบปรามพม่าที่ล้อมกรุงศรีอยุธยา และเล็งเห็นว่าเมืองจันทบุรีเป็นเมืองใหญ่กว่าหัวเมืองอื่น ๆ มีเจ้าปกครองอยู่เป็นปกติมีกำลังคนและอาหารบริบูรณ์ ชัยภูมิก็เหมาะที่จะใช้เป็นที่ตั้งมั่นมากกว่าหัวเมืองใกล้เคียงทั้งหลาย จึงแต่งทูตให้ถือศุภอักษรไปชักชวนเจ้าพระจันทบุรีช่วยกันปราบปรามข้าศึก ในครั้งแรกก็ต้อนรับทูตโดยดีและรับว่าจะมาปรึกษาหารือกับเจ้าตากที่เมืองระยอง ครั้นมือทูตกลับไปแล้ว พระยาจันทบุรีกลับไม่ไว้ใจเจ้าตากเกรงจะถูกชิงเมืองจึงไม่ยอมไปพบ




ประวัติการเมืองการปกครองไทย
โดย……สถาบันพระปกเกล้า
ความนำ

จากร่องรอยทางโบราณคดีและหลักฐานตำนานต่าง ๆ ทางภาคเหนือ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13 ชนชาติไทยได้ตั้งมั่นอยู่แล้วทางภาคเหนือของดินแดนที่เป็นประเทศไทยปัจจุบัน มีการสร้างเมืองต่าง ๆ ซึ่งปรากฏชื่อในตำนาน เช่น เวียงหิรัญนคร เวียงไชยปราการ เวียงฝาง เป็นต้น เมืองเหล่านี้มีลักษณะการปกครองแบบนครรัฐ
อย่างไรก็ตาม นอกจากร่องรอยทางโบราณคดีและหลักฐานทางตำนานแล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่น ๆ เกี่ยวกับนครรัฐไทยเหล่านี้มากนัก ทำให้เราไม่ทราบความเป็นมา และสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของนครรัฐไทยในระยะแรก ๆ

ส่วนหลักฐานที่ปรากฏในจารึกและภาพสลักศิลาของชนชาติอื่น ๆ นั้น จารึกของอาณาจักรจามปา พ.ศ.1593 ณ วิหารโปนาการ์ เมืองญาตรัง ประเทศเวียดนามปัจจุบัน ได้กล่าวถึงพระเจ้าชัยปรเมศวรทรงบูรณะพระปฏิมาเจ้าแม่ภควดีที่วิหารแห่งนี้ และได้ทรงอุทิศทาสเชลยศึกถวายเป็นข้าพระในบรรดาทาสที่อุทิศถวายนี้ มีทาสเชลยศึกชาวสยามอยู่ด้วย

ในจารึกพม่า ปรากฏคำว่า “สยาม” เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.1663 และในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 17 ได้ปรากฏภาพสลักศิลานูนต่ำที่ระเบียงชั้นนอกของปราสาทนครวัด ในเมืองพระนครหลวง ประเทศกัมพูชาปัจจุบัน เป็นภาพกองทัพชาวสยามตามเสด็จขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ.1656 – หลัง พ.ศ.1668) พระเจ้าแผ่นดินแห่งอาณาจักรเขมร

จากหลักฐานต่าง ๆ ข้างต้นทำให้เราทราบว่า ชนชาติไทยได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเป็นเวลานานหลายร้อยปีก่อนการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัย สันนิษฐานว่าชนชาติไทยคงแผ่กระจายอยู่ทั่วไปในอาณาบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และอาจจะลงไปถึงคาบสมุทรภาคใต้ ชนชาติไทยกลุ่มต่าง ๆ นี้คงจะรวมกลุ่มกันเป็นนครรัฐหรือแว่นแคว้นเล็ก ๆ ของตนเอง และคงอยู่ภายใต้การปกครองของกลุ่มชนที่กำลังมีอำนาจอยู่ในแหลมอินโดจีนขณะนั้น คือ ชนชาติมอญ และชนชาติเขมร

อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ชนชาติมอญได้เสื่อมอำนาจลง ดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจึงตกอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของอาณาจักรเขมรประมาณ 200 ปี แต่ในช่วงเวลา 200 ปีดังกล่าว อำนาจของเขมรไม่คงที่ บางครั้งเข้มแข็ง บางครั้งอ่อนแอ ดังนั้นหลังจากสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724 – ราว พ.ศ. 1760) อาณาจักรเขมรได้เสื่อมลงมาก ทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมืองและช่องว่างแห่งอำนาจ นครรัฐและแว่นแคว้นของคนไทยจึงพากันตั้งตนขึ้นเป็นอาณาจักรอิสระ ประวัติศาสตร์ไทยที่มีหลักฐานแน่นอนจึงเริ่มขึ้นในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 นี้




พังพระกาฬในประวัติศาสตร์ศรีวิชัย
ที่มหาวิทยาลัยแคมบริดด์ ประเทศอังกฤษ มีหนังสือภาพเขียนระบายสีเล่มหนึ่ง อธิบายขยายความหลักอภิปรัชญาในคัมภีร์ “ปรัชญาปารมิตา” ของศาสนาพุทธินิกายมหายาน ได้ไปจากเนปาลไปเก็บรักษาไว้ในหนังสือภาพเขียนระบายสีเล่มนั้น มีรูปภาพและคำอธิบายประกอบว่า “สุวรรณปุเร ศรีวิชัยปุเร โลกนาถ”

ศาสตราจารย์ ประนะวิธาน ให้คำอธิบายข้อความนี้ว่า พระโลกนาถแห่งศรีวิชัยปุระในสุวรรณประทีปทำให้สืบสาวราวเรื่องได้ว่า ในรัชกาลพระเจ้าศรีจุฬามณีวรรมะเทวะ ครองราชย์สมบัติอยู่ในกรุงศรีวิชัย เมื่อราว พ.ศ.1514 ในสมัยนั้น พระธรรมกิรติเถระ ดำรงสมณะศักดิ์เป็นพระสังฆราชแห่งอาณาจักศรีวิชัยประทับอยู่ที่ สุวรรณสุคติสถูป ซึ่งคงหมายถึง วัดบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราช พระธรรมกิรติเถระ ได้รจนาคัมภีร์สำคัญมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นเล่มหนึ่งมีชื่อว่า “อภิสมยาลังกร” ขึ้นชื่อลือเลื่องขจรขจายไปทั่วจนได้รับสมญานามว่า “คุรุแห่งสุวรรณทวีป” ภิกษุมีชื่อเสียงระดับมหาบัณฑิตชาวอินเดียหลายองค์เป็นต้นว่า รัตนากรสันติ, ญานศรีมิตร, บัณฑิตภูมิสาระ เดินทางมาศึกษาปรัชญาปารมิตา อันเป็นต้นเค้าให้เกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นในโลก โดยอาศัยหลักโพธิจิต ทำให้สำเร็จเป็นโพธิสัตว์

หนังสือพุทธศาสนาของอินเดียกล่าวถึง เจ้าชายอติษะ ราชโอรสของพระเจ้ากัลยาณีศรี แห่งวังครัฐ หรือแคว้นเบงกอล ทางภาคตะวันออกของอินเดีย ผู้มีจิตใจเลื่อมใสในพุทธศาสนา ได้สละราชสมบัติออกบวชตั้งแต่พระชนมายุได้ 6 พรรษา ต่อจากนั้นได้เสด็จไปศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ในสำนักมีชื่อเสียงต่างๆ ทั่วอินเดีย จนมีความรู้เชี่ยวชาญ เมื่อได้รับอุปสมบทจึงได้รับฉายาว่า “ภิกษุทีปังกระศรีฌานะ” ดำรงอธิการบดีมหาวิทยาลัยวิกรมศีลาวิหาร ขึ้นชื่อถือนามกันว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่สองในโลก (ทีปังกระ) ได้รับยกย่องว่าเป็นมหาบัณฑิต เป็นที่ชื่นชมของศาสนิกทั้งในนิกายหินยาน และนิกายมหายาน ประสงค์จะศึกษาปรัชญาปารมิตาและปลูกโพธิจิตกับ คุรุแห่งสุวรรณทวีปจึงลงเรือเดินทางมาพร้อมด้วยสานุศิษย์ 125 รูป เมื่อ พ.ศ. 1554 จนกระทั่งถึง พ.ศ. 1566 เป็นเวลา 12 ปี

ครั้นภิกษุอติษะสำเร็จวิทยาการจากสุวรรณทวีปได้เดินทางกลับอินเดีย พร้อมกับนำพระคัมภีร์อภิสมยาลังกรไปเผยแพร่ ภายหลังภิกษุผู้มีชื่อเสียงรูปนี้ได้เดินทางไปเผยแพร่พุทธศาสนาในทิเบตคัมภีร์สมยาลังกร จึงได้แปลถ่ายทอดเป็นภาษาทิเบต อันเป็นรากฐานการนับถือศาสนาพุทธนิกายลามะสืบมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากหลักการปลูก โพธิจิต อันมีชื่อเสียงของท่านคุรุแห่งสุวรรณทวีปแล้ว หลักปรัชญาของอาจารย์แห่งอาณาจักรศรีวิชัยยังอาศัยหลักธรรมชาติวิทยาเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างโลกกับดาวเคราะห์ อันเป็นต้นเหตุของมูลรูปขนาดเล็กที่เรียกว่า ปรมณู และวิชชุรูป คือแรงดึงดูดให้มูลรูปเกิดการรวมตัวและหมุนเวียนไปรอบๆจุดศูนย์กลาง เหมือนกับดาวเคราะห์ถูกบังคับโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ และยังมีสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นตัวการปรุงแต่งแปลงสภาพธาตุทั้งหลายในโลกก็คือ “อากาศธาตุ” ที่สถิตอยู่ในช่องว่างภายในแรงดึงดูดแห่งมูลรูป ส่วนประกอบของมูลรูปขนาดเล็กเหล่านี้จึงรวมตัวเป็นมูลรูปวัตถุขนาดใหญ่ และมวลชีวิต คือ มนุษย์ สัตว์ พืช ย่อมพึ่งพาอาศัยถ่ายเทธาตุในลักษณะพึ่งพาอาศัยกันในรูปวงจรที่เรียกว่า “ปฏิจจสมุปบาท” หรือ “มายาอุปาทาน” อันเปรียบดังวงโซ่ที่ร้อยรัดมวลชีวิตให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร ตกอยู่ภายใต้อำนาจของการโคจรแห่งดวงดาวในจักรวาล จึงสรุปเหตุแห่งการเกิดว่า “กรรม” ย่อมจำแนกสัตว์ทั้งหลายไปตามแรงเจตนาที่สร้างสมขึ้น

การล่วงรู้ความลับของจักรวาล และความเป็นไปในโลกอย่างถ่องแท้ว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลกล้วนแต่ถูกปรุงแต่งแปลงสภาพมาจาก ระบบธาตุในโลก กับ คลื่นพลังแสงดาวในจักรวาลคลุกเคล้าเข้ากับอากาศธาตุ ด้วยเหตุนี้มวลชีวิตและวัตถุทั้งหลายในโลก จึงถูกบังคับให้ดำเนินไปตามอำนาจของดวงดาวในจักรวาล อันเป็นรากฐานของวิชา “โลกธาตุ” หรือ “โลกศาสตร์” ซึ่งแต่เดิมเรียกกันว่า “ศิวศาสตร์” หรือ “ไศวศาสตร์” แปลว่าวิทยาการแห่งโลกแต่คำอินเดียอาจไม่ถูกปากถูกใจคนไทย จึงแปลงถ้อยคำให้สอดคล้องกับรสนิยมของตนเองว่า “ไสยศาสตร์” ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบความหมายที่แท้จริงว่า ไสยศาสตร์ แปลว่าอย่างไร จนก่อให้เกิดการเข้าใจผิดว่าเป็นความเชื่อในเรื่องผีสางคาถาอาคมที่งมงายไร้เหตุผล แท้จริงแล้วเป็นความรอบรู้เกี่ยวกับจักรวาล และวิถีชีวิตตลอดจนการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด รวมทั้งความเข้าใจในเรื่อง จิตวิญญาณ อย่างน่ามหัศจรรย์ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์และปาฏิหาริย์ สิ่งที่เหลือเชื่อทั้งหลาย ส่วนใหญ่มีรากฐานมาจากความรู้ในด้านไสยศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแตกฉานเกี่ยวกับ วิชาโหราศาสตร์ เป็นพื้น การทำพิธีปลุกเสกเป็นแต่เพียงพิธีการเพื่อเสริมความเชื่อของสังคมเท่านั้น

ด้วยความรอบรู้ความลับของจักรวาลดังกล่าว จึงขนานนามพระโพธิสัตว์ผู้ตรัสรู้ธรรมว่า “พังพระกาฬ” คือผู้ล่วงรู้การเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของสิ่งทั้งหลายว่า เวลา เป็นตัวกำหนดอายุขัย ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นสิ่งมีชีวิตก็จะสิ้นลม เพราะหยุดการหายใจ มูลรูปก็จะแตกสลายกลายเป็นปรมณูธาตุดังเดิมจึงเรียก วันเวลาแห่งอายุขัยของชีวิตว่า “พระกาฬ” หรือ “พระกาล” หมายความว่าเจ้าแห่งความตาย

การล่วงรู้อนาคตด้วยวิธีการทางโหราศาสตร์ เป็นเครื่องมือสำคัญเพียงประการเดียว ที่ช่วยให้มนุษย์ล่วงรู้เหตุการณ์ดังกล่าวได้ดีที่สุด เช่นเดียวกับแพทย์ที่ทราบว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยของคนเรานั้นหนักเบาประการใด อาการโรคที่ถูกคุกคามอยู่นั้น พอที่จะรักษาให้หายขาดได้หรือไม่ หรือจะมีอายุยืนยาวไปได้ขนาดไหน พระโพธิสัตว์ผู้ตรัสรู้ธรรมและล่วงรู้เส้นทางโคจรของดวงดาวในจักรวาล ก็ย่อมทราบว่า ใครเคราะห์หามยามร้ายชะตาจะถึงฆาตหรือไม่ มีหนช่วยเหลือบรรเทาประการใด ชาวศรีวิชัยโบราณขนานนามผู้มีญาณวิเศษนั้นว่า “พระพังพระกาฬ”

สันนิษฐานว่า พระศรีมหาราช จุฬามณีวรรมะเทวะ แห่งอาณาจักรศรีวิชัยในสมัยนั้น คงได้รับยกย่องว่าเป็น พระเทวะโพธิสัตว์พังพระกาฬ จึงได้มีการสร้างวัตถุมงคลมีลักษณะเป็นรูปคนนั่งขัดสมาธิเพชร ปิดหน้าตาด้วยสองฝ่ามือ ทำเป็นรูปพระปรางค์เหมือนดังมงกุฎสวมเหนือศีรษะ มีรูปงูเป็นสัญลักษณ์ บนศีรษะทำเป็นรูปมุ่นมวยผมมีลักษณะ 8 แฉก เรียกว่า “จันทร์ 8 แฉก” อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่มาอุบัติขึ้นในโลก ดุจดังพระนารายณ์อวตารเสด็จมาดับยุคเข็ญในโลกมนุษย์

รูปพระพังพระกาฬ ประติมากรรมเก่าแก่ของศรีวิชัยซึ่งสร้างขึ้นกว่า 1,000 ปีก่อน คงหายสาบสูญไปหมดสิ้น แม้มีอยู่ก็ไม่มีใครทราบว่าเป็นพระอะไร เพราะแตกต่างไปจากพระพุทธรูปที่เรานับถือกันอยู่ในปัจจุบันนี้ จตุคามรามเทพ มีความประสงค์ให้สร้างขึ้นใหม่ เมื่อชาวนครศรีธรรมราชร่วมแรงร่วมใจกันสร้างหลักเมืองใน พ.ศ.2530 จึงได้พบเห็น พระพังพระกาฬ ในแบบพิสดารเหลือเชื่อดังที่เคยเล่าให้ฟัง

----------------------------------------------------------------

เรียบเรียงโดย
พลตำรวจโท สรรเพชญ ธรรมาธิกุล








การแบ่งยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย
สมัยก่อนประวัติศาสตร์สามารถแบ่งย่อยได้หลายวิธี เช่น การแบ่งยุคตามลักษณะวัสดุที่มนุษย์นำมาใช้ทำเครื่องมือ และลักษณะของเครื่องมือเครื่องใช้ การแบ่งยุคตามลักษณะเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ

การแบ่งยุคตามลักษณะของเครื่องมือเครื่องใช้
ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อมนุษย์ได้ดัดแปลงวัสดุตามธรรมชาติทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมขึ้น การแบ่งยุคสมัยจึงใช้ชนิดของวัสดุ และ ลักษณะของเครื่องมือเครื่องใช้เป็นหลัก สามารถแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น 2 ยุค คือ

1.1 ยุคหิน แบ่งตามลักษณะเครื่องมือเป็น 3 ยุค คือ

- ยุคหินเก่า เป็นยุคที่ใช้เครื่องมือหินกะเทาะอย่างหยาบๆ สมัยหินเก่าพบหลักฐานเครื่องมือหินกรวดแม่น้ำ(Pebble Tools)ขนาดใหญ่ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย อ.แม่ทะ จ.ลำปาง แต่ยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนเกี่ยวกับการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์สมัยหินเก่า คนสมัยนี้ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเก็บของป่าล่าสัตว์(Hunting Gathering) ไม่รู้จักการเพาะปลูก หรือทำเครื่องปั้นดินเผา

- ยุคหินกลาง ไม่พบหลักฐานในประเทศไทย สมัยหินกลาง ใช้เครื่องมือขวานหินกะเทาะทรงโดมแบบสับตัด(Chopper Chopping Tools) เครื่องมือแบบขูด(Scrapper) เครื่องสะเก็ดหินแบบฮัวบิห์เนียน เครื่องมือแบบสุมาตราลิธ(Sumatralithลักษณะเป็นแผ่นค่อนข้างแบนยาวเกือบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า) คนสมัยหินกลางอาศัยอยู่ในถ้ำ ในประเทศไทยพบที่ถ้ำผี ถ้ำปุงฮุง จ.แม่ฮ่องสอน และถ้ำในภาคใต้ บางแหล่งรู้จักการเพาะปลูกและทำเครื่องปั้นดินเผา ยังไม่พบร่องรอยโครงกระดูกมนุษย์สมัยนี้ในประเทศไทย

- ยุคหินใหม่ เป็นยุคที่ใช้เครื่องมือหินขัด มีการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นใช้ สมัยหินใหม่ พบหลักฐานการใช้เครื่องมือแบบขวานหินขัด(Polish Axes/ Ads) ทั้งแบบมีบ่าและไม่มีบ่า บางครั้งชาวบ้านเรียกว่าขวานฟ้า เพราะมักพบตามหัวไร่ปลายนาหลังถูกน้ำฝนชะล้าง คนสมัยนี้รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์แล้ว รู้จักการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนตามเนินดินค่อนข้างสูง หรือริมฝั่งแม่น้ำชันๆ เช่น แม่น้ำแควใหญ่ แม่น้ำแควน้อย จ.กาญจนบุรี พบหลักฐานโครงกระดูกแพร่กระจายทั่วไปในประเทศไทย เช่น แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จ.กาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี (ภาชนะลายเขียนสีบ้านเชียง) แหล่งโบราณคดี อ.โคกเจริญ จ.ลพบุรี ฯลฯ คนสมัยนี้นิยมใส่ภาชนะดินเผาบรรจุอาหาร เครื่องมือหินและเครื่องประดับจากหิน กระดูกหรืองาช้าง ลงในหลุมศพด้วย

1.2 ยุคโลหะ แบ่งตามชนิดของวัสดุเป็น 2 ยุค คือ

- ยุคสำริด เป็นยุคที่ใช้โลหะผสมระหว่างทองแดงและดีบุกเรียกว่าสำริดมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้
- ยุคเหล็ก เป็นยุคที่รู้จักการถลุงเหล็ก นำมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้

แบ่งเป็นแหล่งโบราณคดีซึ่งพบเครื่องมือเครื่องใช้ทำด้วยโลหะสำริดฝังร่วมกับโครงกระดูกในหลุมศพ พบที่บ้านเชียง อุดรธานี หรือแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ฯลฯ ส่วนแหล่งโบราณคดีซึ่งพบเครื่องมือเหล็กฝังร่วมกับโครงกระดูกนั้น พบบริเวณริมฝั่งแม่น้ำป่าสัก อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งกำลังถูกนายทุนเช่าที่เพื่อลักลอบขุดหาโบราณจนกระทั่งแทบหมดสภาพแล้ว(สำรวจ พ.ศ.2542)

้การแบ่งยุคตามลักษณะเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์
นอกจากการแบ่งยุคตามชนิดของวัสดุและเครื่องมือเครื่องใช้แล้วยังพบว่าในบางครั้งนักวิชาการอธิบายยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์ออกโดยดามลักษณะเศรษฐกิจสังคมออกเป็น
2.1 สังคมนายพราน เป็นยุคที่มนุษย์ดำรงชีวิตด้วยการล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ เก็บอาหารที่ได้จากธรรมชาติ ยังไม่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยถาวร มักอพยพตามฝูงสัตว์
2.2 สังคมเกษตรกรรม เป็นยุคที่มนุษย์รู้จักการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ยังคงมีการล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ และเก็บอาหารที่ได้จากธรรมชาติ มักจะตั้งบ้านเรือนถาวรบนพื้นที่ที่เหมาะแก่การเกษตรกรรม มีการรวมกลุ่มเป็นหมู่บ้าน เป็นเมือง มีการแลกเปลี่ยนผลผลิต และมีระบบการปกครองในสังคม
2.3 สังคมเมือง

สมัยลพบุรี

ในช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 14 อิทธิพลทางวัฒนธรรมเขมรเริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่พื้นที่ประเทศไทยทางด้านภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย หลักฐ่านสำคัญที่ทำให้เราเชื่อได้ว่าอำนาจทางการเมืองของเขมรเข้ามาสู่ดินแดนไทย คือ ศาสน-สถานทั้งที่สร้างเนื่องในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู และศาสนาพุทธลัทธิมหายาน รวมทั้งศิลาจารึกต่างๆ ที่มีการระบุชื่อกษัตริย์เขมรว่าเป็นผู้สร้างหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง วัฒนธรรมเขมรที่แผ่ขยายเข้ามาทำให้สังคมเมืองในยุคกึ่งก่อนประวัติศาสตร์เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ เช่น การก่อสร้างบ้านเมืองมีแผนผังแตกต่างไปจากเดิม คือ มีลักษณะผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก และมีคูน้ำคันดินล้อมรอบเพียงชั้นเดียวแทนที่จะสร้างเมืองที่มีรูปร่างไม่สม่ำเสมอ หรือเมืองรูปวงกลม วงรี ซึ่งมีคูน้ำหลายชั้น มีระบบการชลประทานเพื่อการบริหารน้ำสำหรับการเพาะปลูกข้าวแบบนาดำ และมี “ บาราย ” หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อการอุปโภคบริโภคของชุมชน จนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 16–18 อาณาจักรเขมรได้เข้ามามีอำนาจในดินแดนไทยมากขึ้น ปรากฏโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมเขมรโดยเฉพาะในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เกือบทั่วภาคอีสาน ลึกเข้ามาถึงภาคกลางและภาคตะวันตก โดยภาคกลางของประเทศไทยมีเมืองละโว้หรือลพบุรีเป็นศูนย์กลางสำคัญที่ปรากฏหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมแบบนี้อยู่มาก ดังนั้นในเวลาที่ผ่านมาจึงกำหนดชื่อเรียกอายุสมัยของวัฒนธรรมที่พบในประเทศไทยว่า “ สมัยลพบุรี ” หลังจากสมัยพระเจ้าชัย วรมันที่ 7 เป็นต้นมา อิทธิพลทางการเมืองและวัฒนธรรมเขมรก็เสื่อมโทรมลงจนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 19 ก็สลายลงโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้สาเหตุเนื่องมาจากการแพร่หลายเข้ามาของพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ และเมืองในภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยแถบลุ่มแม่น้ำยมเริ่มมีความเข้มแข้งมากขึ้น สถาปัตยกรรมแบบวัฒนธรรมเขมรที่พบในประเทศไทย ที่สำคัญได้แก่ ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ประสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น

สมัยสุโขทัย

ดินแดนในเขตลุ่มแม่น้ำยมมีชุมชนอยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น ยาวนานมาอย่างน้อยไม่ต่ำกว่าพุทธศตวรรษที่ 17 ในศิลาจารึกวัดศรีชุม มีข้อความที่พอจะสรุปได้ว่าประมาณปี พ.ศ.1750 เมืองสุโขทัยมีกษัตริย์ปกครองทรงพระนามว่า “พ่อขุนศรีนาวนัมถม” เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ลงขอมสบาดโขลญลำพงได้เข้ามายึดครองสุโขทัย ต่อมาเมื่ออำนาจเขมรที่มีเหนือแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งตอนล่างและตอนบนเสื่อมลงในตอนกลางของพุทธศตวรรษที่ 18 พ่อขุนบางกลางหาว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด พระราชโอรสของพ่อขุนศรีนาวนัมถม ได้ร่วมกันต่อสู้ขับไล่โขลญลำพงจนสามารถรวบรวมดินแดนกลับคืนมาได้สำเร็จในปี พ.ศ.1718 พ่อขุนบางกลางหาวสถาปนาขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ศรีอินทราทิตย์ ทรงพระนามว่า “พระเจ้าศรีอินทรบดินทราทิตย์” ขึ้นครองเมืองสุโขทัยซึ่งต่อมามีกษัตริย์ปกครองสืบทอดกันมาทั้งสิ้น 10 พระองค์ การนับถือศาสนาของคนในสมัยสุโขทัย พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลักทั้งหินยานและมหายาน นอกจากนั้นยังมีศาสนาฮินดูและความเชื่อดั้งเดิม โดยพุทธศาสนาแบบหินยานลัทธิลังกาวงศ์ได้รับการยอมรับมากจนเป็นศาสนาประจำอาณาจักร รองลงมาคือ การนับถือผี หรือ พระขะผุงผี อันถือว่าเป็นผีที่ยิ่งใหญ่มากกว่าผีทั้งหลายในเมืองสุโขทัย นิกายมหายาน และศาสนาฮินดู ตามลำดับ

ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัยได้ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมาก มีการติดต่อสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เป็นการวางรากฐานอารยธรรมไทย คือ การประดิษฐ์ตัวอักษรไทย ซึ่งได้ทรงนำแบบแผนของตัวหนังสืออินเดียฝ่ายใต้ โดยเฉพาะตัวอักษรคฤหณ์มาเป็นหลักในการประดิษฐ์ตัวอักษร โดยทรงพิจารณาเทียบเคียงกับตัวอักษรของเขมรและมอญ ศิลปกรรมในสมัยสุโขทัยที่โดดเด่นมากที่สุดได้แก่ งานศิลปกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างพระพุทธรูปซึ่งมีรูปแบบที่เป็นของตนเองอย่างแท้จริง ศิลปะการสร้างพระพุทธรูปของสุโขทัยรุ่งเรืองและสวยงามมากในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) พระพุทธรูปที่สำคัญ ได้แก่ พระพุทธชินราช พระศรีศากยมุนี และพระพุทธชินสีห์ เป็นต้น งานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสมัยสุโขทัย คือ เจดีย์ทรงดอกบัวตูม ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่สำคัญๆ ในเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชร

ในราวพุทธศตวรรษที่ 20 อาณาจักรสุโขทัยอ่อนแอลงจากการแย่งชิงการสืบทอดอำนาจการปกครอง ทำให้กรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นบ้านเมืองที่เข้มแข็งขึ้นในเขตภาคตะวันออกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาขยายอำนาจขึ้นมา จวบจนปี พ.ศ.1921 รัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ 1 (ขุนหลวงพะงั่ว) แห่งกรุงศรีอยุธยา สุโขทัยจึงตกเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา โดยมีกษัตริย์ที่มีฐานะเป็นเจ้าประเทศราชปกครองมาจนถึงปี พ.ศ.1981 จึงหมดสิ้นราชวงศ์

สมัยอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 หรือ “ พระเจ้าอู่ทอง ” ทรงรวบรวมเมืองต่างๆ ในที่ราบลุ่มภาคกลางเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย เมืองลพบุรี เมืองสุพรรณบุรี และเมืองสรรคบุรี เป็นต้น แล้วสถาปนาเมืองพระนครศรีอยุธยาขึ้นในปี พ.ศ. 1893 บริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางอันมีแม่น้ำสำคัญสามสายไหลผ่าน คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก เป็นชัยภูมิที่เหมาะสมในการตั้งรับข้าศึกศัตรู และเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตรกรรมเพาะปลูกข้าว กรุงศรีอยุธยาดำรงฐานะราชธานีของไทย เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครอง การค้า และศิลปวัฒนธรรมในดินแดนลุ่มเจ้าพระยายาวนานถึง 417 ปี มีพระมหากษัตริย์ปกครองสืบต่อกันมาทั้งสิ้น 33 พระองค์ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2301 อาณาจักรกรุงศรีอยุธยาจึงได้ถูกทำลายลงในระหว่างสงครามกับพม่า

สังคมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นสังคมศักดินา ฐานะของพระมหากษัตริย์เปรียบเสมือน “ เทวราชา ” เป็นสมมติเทพ มีการแบ่งชนชั้นทางสังคมในระบบ “ เจ้าขุนมูลนาย ” ทำให้เกิดความแตกต่างของฐานะบุคคลอย่างชัดเจน รวมถึงพระสงฆ์ก็มีการกำหนดศักดินาขึ้นเช่นเดียวกัน ในการปกครองถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดทั่วราชอาณาจักร โดยจะทรงแบ่งอาณาเขตออกเป็นหัวเมืองต่างๆ แล้วทรงมอบหมายให้ขุนนางไปครองที่ดินรวมทั้งปกครองผู้คนที่อยู่อาศัยในที่ดินเหล่านั้นด้วย ดังนั้นที่ดินและผลผลิตที่ได้จากการเกษตรกรรมส่วนใหญ่จึงตกอยู่ในมือของผู้ที่มีฐานะทางสังคมสูง พระมหากษัตริย์ทรงผูกขาดการค้าขายสินค้าในระบบพระคลังสินค้า สิ่งของต้องห้ามบางชนิดที่หายากและมีราคาแพง ราษฎรสามัญธรรมดาไม่สามารถจะมีไว้ในครอบครองเพื่อประโยชน์ทางการค้าได้ จะต้องส่งมอบหรือขายให้กับพระคลังสินค้าในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้า และหากพ่อค้าต่างชาติต้องการจะซื้อสินค้าประเภทต่างๆ ต้องติดต่อโดยตรงกับพระคลังสินค้า ในราคาที่กำหนดตายตัวโดยพระคลังสินค้าเช่นเดียวกัน การที่พระมหากษัตริย์ทรงสนพระทัยทางด้านการค้าและทรงรับเอาชาวจีนที่มีความชำนาญทางด้านการค้ามาเป็นเจ้าพนักงานในกรมพระคลังสินค้าของไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้การค้าเจริญรุ่งเรืองก่อให้เกิดความมั่งคั่งแก่อยุธยาเป็นจำนวนมาก จนกล่าวได้ว่า ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 22 กรุงศรีอยุธยาเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกไกล รายได้ของแผ่นดินส่วนใหญ่มามาจากการเก็บภาษีโดยส่วนใหญ่จะถูกแบ่งไว้สำหรับเลี้ยงดูบำรุงความสุขและเป็นบำเหน็จตอบแทนพวกขุนนางและเจ้านายซึ่งเป็นผู้ปกครอง ส่วนที่เหลือก็อาจจะใช้ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์สำหรับป้องกันศัตรูที่จะมารุกราน หรืออาจจะใช้สำหรับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาบ้าง เป็นต้น ส่วนการทำนุบำรุงท้องถิ่น เช่น การขุดคลอง การสร้างถนน การสร้างวัด ก็มักจะใช้วิธีเกณฑ์แรงงานจากไพร่ทั้งสิ้น

ในด้านศิลปกรรม ช่างฝีมือในสมัยอยุธยาได้สร้างสรรค์ศิลปกรรมในรูปแบบเฉพาะของตนขึ้น โดยการผสมผสานวัฒนธรรมของกลุ่มชนหลายเชื้อชาติ เช่น ศิลปะสุโขทัย ศิลปะล้านนา ศิลปะลพบุรี ศิลปะอู่ทอง และศิลปะจากชาติต่างๆ เช่น จีนและชาติตะวันตก ทำให้เกิดรูปแบบ “ ศิลปะอยุธยา ” ขึ้น ซึ่งสามารถศึกษาได้จากโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาวัดวาอารามต่างๆ รวมถึงปราสาทราชวังโบราณในสมัยอยุธยา อันปรากฏเด่นชัดอยู่ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดเพชรบุรี เป็นต้น

สมัยธนบุรี

หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า ราษฎรไทยที่เหลือรอดจากการถูกกวาดต้อนตามเขตแขวงรอบๆ พระนครต่างก็ซ่องสุมผู้คน เข้ารบราฆ่าฟันเพื่อป้องกันตนเองและแย่งชิงเสบียงอาหารเพื่อความอยู่รอด กรุงศรีอยุธยาจึงอยู่ในสภาพจลาจล บ้านมืองแตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า มีชุมนุมที่คิดจะรวบรวมผู้คนเพื่อกอบกู้เอกราชถึง 6 ชุมนุม ได้แก่ ชุมนุมเจ้าพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมสุกี้พระนายกอง ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราชและชุมนุมพระเจ้าตาก ซึ่งต่อมาชุมนุมพระเจ้าตากสินเป็นกลุ่มกำลังสำคัญที่มีที่สามารถกอบกู้เอกราชได้สำเร็จ โดยตีค่ายโพธิ์สามต้นแตกขับพม่าออกไปได้

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จในปี พ.ศ.2310 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ และโปรดเกล้าฯให้ปรับปรุงเมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร ซึ่งตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมวิไชเยนทร์สถาปนาขึ้นเป็นราชธานี โปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชวังขึ้นเป็นที่ประทับและศูนย์กลางบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยเหตุผลว่าเป็นเมืองที่มีป้อมปราการและชัยภูมิที่ดีทางยุทธศาสตร์ ขนาดของเมืองพอเหมาะกับกำลังไพร่พลและราษฎรในขณะนั้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมสมัยธนบุรียังคงดำเนินรอยตามรูปแบบของอยุธยา ฐานะของพระมหากษัตริย์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ยังยึดขัตติยราชประเพณีตามแบบฉบับของกรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจขณะนั้นอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก จำเป็นที่จะต้องแก้ไขเร่งด่วน สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยการสละพระราชทรัพย์ซื้อข้าวสารจากพ่อค้าชาวต่างประเทศ ด้วยราคาแพงเพื่อบรรเทาความขาดแคลน มีผลทำให้พ่อค้าชาวต่างประเทศบรรทุกข้าวสารลงเรือสำเภาเข้ามาค้าขายเป็นอันมาก ทำให้ราคาช้าวสารถูกลงและปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการ นอกจากนั้นยังทรงใช้ให้บรรดาขุนนางข้าราชการขวนขวายทำนาปีละ 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวให้เพียงพอแก่ความต้องการ เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรทั้งปวง ทำให้ราษฎรมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น ในด้านการค้าชาวจีนที่มาตั้งหลักแหล่งค้าขาย และทำมาหากินในราชอาณาจักรได้มีส่วนสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของอาณาจักรธนบุรีน

ด้านการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สมัยธนบุรีเป็นสมัยของการฟื้นฟูชาติบ้านเมือง ทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งสังฆมณฑลตามแบบอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา เช่น ทรงจัดการชำระคณะสงฆ์ที่ไม่ตั้งอยู่ในศีลวัตร สร้างซ่อมแซมวัดวาอารามที่ตกอยู่ในสภาพทรุดโทรม แสวงหาพระสงฆ์ที่มีคุณธรรมความรู้มาตั้งเป็นพระราชาคณะเป็นเจ้าอาวาสปกครองสงฆ์และสั่งสอนปริยัติธรรมและภาษาไทย ส่งพระราชาคณะไปเที่ยวจัดสังฆมณฑลตามหัวเมืองเหนือ เพราะเกิดวิปริตครั้งพระเจ้าฝางตั้งตนเป็นใหญ่และทำสงครามทั้งๆที่เป็นพระสงฆ์ และทรงรวบรวมพระไตรปิฎกให้สมบูรณ์ครบถ้วน ศิลปกรรมต่างๆจึงยังคงดำเนินตามแบบอยุธยา เนื่องจากระหว่างรัชกาลมีศึกสงครามอยู่ตลอดเวลาทำให้ช่างฝีมือไม่มีเวลาในการที่จะสร้างสรรค์งานด้านศิลปะให้ก้าวกน้าออกไปจากเดิม

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงครองราชย์อยู่เป็นระยะเวลา 15 ปี เนื่องจากทรงมีพระราชภาระกิจทั้งทางด้านการกอบกู้บ้านเมืองซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจตกต่ำจากภาวะการสงคราม และปกป้องบ้านเมืองซึ่งข้าศึกได้ยกเข้ามาตลอดรัชกาล ปลายรัชกาลได้ทรงมีพระสติฟั่นเฟือนในปี พ.ศ. 2325 เจ้าพระยาจักรีซึ่งเป็นแม่ทัพสำคัญของสมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงได้รับอัญเชิญให้ครองราชย์สมบัติสืบต่อมา

สมัยรัตนโกสินทร์

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 โปรดเกล้าฯให้ย้ายราชธานีมาตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามกับกรุงธนบุรี การสร้างพระนครเริ่มขึ้น ในปีพ.ศ.2326 เมื่อสร้างสำเร็จในปีพ.ศ. 2328 ได้พระราชทานนามว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯ ” เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศที่เจริญรุ่งเรือง มีพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีปกครองประเทศมาจนถึงปัจจุบันจำนวน 9 พระองค์

สภาพกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นประชากรของประเทศยังคงน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด สังคมความเป็นอยู่ยังคงยึดถือสืบเนื่องมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีการจัดระเบียบทางสังคมด้วยระบบเจ้าขุนมูลนาย ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ ผลิตสินค้าเกษตร จำพวกน้ำตาล พริกไทย และหาของป่าจำพวกไม้สัก ไม้พยุง ไม้กฤษณาและไม้ฝาง การปลูกข้าวเป็นอาชีพหลัก ผลผลิตที่ได้จะใช้บริโภคและส่งออกขายเฉพาะส่วนที่เหลือจากการบริโภคแล้วเท่านั้น เนื่องจากบ้านเมืองยังคงตกอยู่ในสภาวะสงคราม การติดต่อค้าขายกับต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นการทำการค้ากับประเทศจีน อยู่ภายใต้ความควบคุมของพระมหากษัตริย์โดยมีกรมพระคลังสินค้าเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์ทางการค้า ต่อมามีการเซ็นสัญญาบาวริงในปี พ.ศ.2398 การผูกขาดทางการค้าถูกทำลาย ระบบการค้าเสรีเริ่มเกิดขึ้นและขยายกว้างขวางออกไปทำให้การค้าขายเจริญมากขึ้น มีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อซื้อขายกับไทยอย่างมากมาย เช่น อังกฤษซึ่งเข้ามาทำอุตสาหกรรมป่าไม้ในไทย สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส เดนมาร์ก โปรตุเกส เนเธอร์แลนด์ ปรัสเซีย สวีเดน รุสเซีย เป็นต้น ข้าว ได้กลายเป็นสินค้าสำคัญเป็นอันดับหนึ่งในการส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีพืชเศรษฐกิจอื่นๆรวมถึงสินค้าที่เกิดจากการแปรรูปผลผลิตทางด้านเกษตรกรรม ทำให้เกิดการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนด้านสังคมในปี พ.ศ.2475 จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงระเบียบสังคม เป็นสังคมระบอบประชาธิปไตย ประชาชนทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางด้านกฎหมาย

ในด้านการศาสนาหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าแล้ว วัดวาอารามต่างๆ รวมทั้งคัมภีร์ทางศาสนาถูกทำลายเสียหายเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯให้ทำนุบำรุงพระศาสนา โปรดฯให้สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดประจำพระนคร แล้วทรงอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกตจากเมืองเวียงจันทร์มาประดิษฐานเพื่อให้เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง โปรดเกล้าฯให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกและให้ถือเป็นธรรมเนียมที่จะให้พระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่ชำรุดทรุดโทรม ส่วนการปกครองคณะสงฆ์ยังคงใช้แบบอย่างของกรุงศรีอยุธยา มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรโดยนับเป็นข้าราชการแผ่นดินอย่างหนึ่งด้วย ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงแบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็น 4 คณะ คือ คณะเหนอ คณะใต้ คณะกลางและคณะอรัญวาสี เจ้าฟ้ามงกุฎซึ่งทรงผนวชอยู่ที่วัดสมอราย ได้ทรงประกาศประดิษฐานนิกายธรรมยุติขึ้นในพุทธศาสนา

ศิลปกรรมในด้านต่างๆ ยังคงเลียนแบบอยุธยาตอนปลาย เช่น การสร้างพระพุทธรูปส่วนมากสร้างขึ้นตามแบบพระพุทธรูปที่มีมาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา นิยมสร้างพระพุทธรูปองค์เล็กๆ มากขึ้น และมักสร้างเป็นภาพเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติตอนต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่ 3 นิยมสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ เช่น พระศรีอาริยเมตไตรย์และสาวกที่ครองผ้าอุตราสงค์เป็นลายดอก ส่วนสถาปัตยกรรมในตอนแรกยังคงเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนปลาย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงนิยมศิลปะแบบจีนทำให้เกิดศิลปะผสมผสานระหว่างไทยจีน ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา อิทธิพลของชาติตะวันตกได้เข้ามาสู่ประเทศไทยทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมกลายเป็นแบบตะวันตกมากขึ้นจนถึงปัจจุบัน





ไทยกับสงครามโลกครั้งที่ 2
สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในยุโรปตั้งแต่ พ.ศ. 2482 เมื่ออังกฤษ และฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนี แล้วเลยลุกลามเป็นสงครามโลก ทางด้านเอเชีย ญี่ปุ่นประกาศสงครามสัมพันธมิตรเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ต่อมาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 กองทหารญี่ปุ่นก็เข้าเมืองไทยทางสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ และสมุทรปราการ ขณะเดียวกันญี่ปุ่นก็เข้าโจมตีเกาะ ฮาวาย ฟิลิปปินส์ และส่งทหารขึ้นบกที่มลายู และโจมตีสิงคโปร์ทางเครื่องบิน เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นได้ของร้องรัฐบาลไทยให้ทหารญี่ปุ่นเดินทัพผ่านไทยเพื่อไปโจมตีพม่า และมลายูของอังกฤษ และขอให้ระงับการ ต่อต้านของคนไทยเสีย คณะรัฐมนตรีโดยมี จอมพลแปลกพิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ก็อนุโลมตามความต้องการของญี่ปุ่น เพื่อรักษาชีวิตและเลือดเนื้อของคนไทย ไทยได้ทำกติกาสัมพันธไมตรีกับญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สงครามที่เกิดขึ้นในเอเชียนี้เรียกกันว่าสงครามมหาเอเชียบูรพา ญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์จะสร้างวงศ์ไพบูลย์มหาเอเชียบูรพา (The Greater East Asia Co-prosperity Sphere) ทั้งใน ทางวัฒนธรรม การเมือง และเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำ

ในระยะเริ่มแรกของสงคราม กองทัพญี่ปุ่นมีชัยชนะทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ ทำให้รัฐมนตรีบางคนเห็นควรให้ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ด้วยคิดว่าญี่ปุ่นจะชนะสงครามไทยจึงได้ประกาศ สงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 ระหว่างสงครามนั้นญี่ปุ่นได้โอนดินแดนบางแห่งที่ยึดได้จากอังกฤษคืนให้แก่ไทย คือ รัฐไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ปะลิส และสองรัฐในแคว้นไทยใหญ่ คือ เชียงตุง และเมืองพาน

ญี่ปุ่นแพ้สงครามเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 รัฐบาลไทยประกาศว่า การประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรเป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญและความประสงค์ของประชาชนชาวไทย ไทยต้องปรับความเข้าใจกับ สัมพันธมิตร สหรัฐอเมริกามิได้ถือไทยเป็นศัตรู ตามประกาศของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดย นาย เจมส์ เบิรนส์ (James Byrnes) รัฐมนตรีต่างประเทศเป็นผู้ลงนาม แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษ นาย เออร์เนสต์ เบวิน (Ernest Bevin) ไม่ยอมรับทราบการโมฆะของการประกาศสงครามง่าย ๆ ลงวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 (เวลานั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้ารัฐบาล) ผู้แทนไทยได้ลงนามกับผู้ แทนอังกฤษที่สิงคโปร์ ความตกลงนี้เรียกว่า "ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อสถานะสงครามระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย" ที่สำคัญ คือไทยต้องคืนดินแดนของอังกฤษที่ได้มาระหว่างสงคราม ให้ข้าวสารโดยไม่ คิดเงินถึง 1.5 ล้านตัน และต้องชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ แต่ต่อมาไทยเจรจาขอแก้ไขโดยฝ่ายอังกฤษสัญญาจะจ่ายเงินค่าข้าวสารให้บ้าง

ไทยสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ และได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2489 โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขบางประการ เช่น ทำสัญญาทางไมตรีกับจีน (หลังสงคราม จีนเป็นมหาอำนาจเพราะเป็นฝ่ายชนะ สงครามด้วย สัญญานี้เป็นสัญญาฉบับแรกระหว่างไทยกับจีน ทั้ง ๆ ที่ได้มีไมตรีกันมานานนับร้อย ๆ ปี) ไทยยอมรับรองสหภาพสาธารณรัฐโซเวียต โซเซียลิสต์ และไทยยอมคืนดินแดนที่เราได้มาจากอนุสัญญากรุงโตเกียว หลังสงครามอินโดจีนให้แก่ฝรั่งเศส

การที่ไทยเอาตัวรอดได้ทั้ง ๆ ที่อยู่ในฝ่ายประเทศแพ้สงครามนี้ ขบวนการเสรีไทยมีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ทำให้ประเทศสัมพันธมิตรโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาเห็นใจเมืองไทย ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูต ไทยประจำสหรัฐอเมริกาได้ประท้วงการประกาศสงครามของรัฐบาลไทย และได้รวบรวมคนไทยในสหรัฐอเมริกาขึ้นเป็นขบวนการเสรีไทยต่อต้านญี่ปุ่น ในอังกฤษก็มีขบวนการเสรีไทยเช่นเดียวกันติดต่อกับหน่วยพลพรรคใต้ดินประเทศ ซึ่งมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าเสรีไทยทั้งหลายเตรียมที่จะจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นตามวันเวลาที่นัดหมาย พร้อม ๆ กันกำลังของสัมพันธมิตรที่จะรุกเข้ามาทางพม่า แต่ญี่ปุ่น ได้ยอมแพ้เสียก่อน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยได้ร่วมมือกับฝ่ายโลกเสรี อันมีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษเป็นหัวหน้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 รัฐบาลไทยยอมรับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและทางทหารจากสหรัฐอเมริกา และใน พ.ศ. 2498 ก็ได้ ร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ รวม 8 ประเทศ จัดตั้งองค์การป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกโดยย่อว่าองค์การซีโต หรือสปอ. (SEATO-South East Asia Treaty Organization) นอกจากนั้นไทยยังเป็น ภาคีสมาชิกของแผนการโคลัมโบ (Columbo Plan) ของประเทศในเครือจักรภพอีกด้วย (แผนการโคลัมโบ เป็นโครงการเพื่อการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านเทคนิคและด้านเศรษฐกิจของประเทศในเครือจักรภพ เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2493 นอกจากประเทศในเครือจักรภพซึ่งมีอังกฤษ แคนนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นตัวตั้งตัวตีที่จะช่วยเหลือประเทศที่เพิ่มได้รับเอกราช ได้แก่อินเดีย ปากีสถาน และลังกาแล้ว ต่อมาได้มีประเทศต่าง ๆ เข้ามาสมทบ อีก คือ เขมร ลาว เวียดนาม พม่า เนปาล อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น เกาหลี ภูฏาน อัฟกานิสถาน หมู่เกาะมัลดีฟและสหรัฐอเมริกา)





บิดาแห่งกฎหมายไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์



พระราชโอรสในสมัยรัชกาลที่5 ที่เสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศอังกฤษ 4 พระองค์แรก เมื่อปี พ.ศ.2428พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโรดม พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช

--------------------------------------------------------------------------------

เสด็จในกรมฯ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาตลับ ณ วันพุธ ขึ้น 11 ค่ำ ปีจอ ฉศก จุลศักราช 1236 ตรงวาระทางสุริยะคติ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2417
เมื่อทรงเจริญพระวัย พอสมควรจะศึกษาอักขรสมัยได้ สมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศึกษาอักขรวิธีภาษาไทย ในสำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ภาษาอังกฤษขั้นต้น ในสำนักครูรามสามิ ต่อมาทรงเข้าศึกษาภาษาไทยชั้นมัธยม ในสำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น โอวาทะสาร) และในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นพระอาจารย์ในความดูแลของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ในช่วงเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ว่า จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสทุกพระองค์ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาความรู้ยังต่างประเทศ เนื่องจากสยามประเทศกำลังประสบปัญหา จากการแผ่อำนาจ แสวงหาอาณานิคมของชาติตะวันตก ชนชาวสยามจำต้องเพิ่มพูนวิชาความรู้ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้ทัดเทียมอารยประเทศ ดังนั้นในวันที่ 14 กรกฎาคม พุทธศักราช 2427 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธออีก 3 พระองค์ คือ พระองค์เจ้ากิติยาวรลักษณ์ , พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม และพระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช เสด็จไปทรงศึกษาต่อยังประเทศในทวีปยุโรป โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงศึกษา ณ ประเทศอังกฤษ
เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมแล้ว ทรงเลือกที่จะศึกษาวิชากฎหมาย และได้ทรงพระปรีชาสอบผ่านการเรียน ณ สำนักไคร์สเชิช แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Christchurch College Oxford) แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมรับเข้าศึกษา เพราะพระชนมายุยังไม่ถึง 18 พรรษา ตามเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย พระองค์จึงต้องเสด็จไปขอความกรุณาเป็นพิเศษว่า " คนไทยเกิดง่ายตายเร็ว " มหาวิทยาลัยจึงยอมผ่อนผันให้สอบใหม่ ก็ยังทรงสอบได้อีกครั้งหนึ่ง พระปรีชาสามารถเป็นที่ประจักษ์ พระองค์จึงทรงศึกษาวิชากฎหมาย ณ สำนักไคร์สเชิช แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และสามารถสอบไล่ได้ ตามหลักสูตรปริญญา B.A. (xon) เกียรตินิยมได้ภายในเวลาเพียง 3 ปี ขณะพระชนมายุเพียง 20 พรรษา แต่เดิมนั้นทรงตั้งพระทัยว่า จะเสด็จมาทรงเรียนเนติบัณฑิตที่กรุงลอนดอน จากนั้นจึงจะเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ที่ประเทศเยอรมนี แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับประเทศสยามเสียก่อน
หลังจากเสด็จกลับมาแล้ว สมเด็จพระบรมชนกนาถ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จในกรมฯ ทรงฝึกหัดราชการในกรมราชเลขานุการ ด้วยพระปรีชาสามารถ ทั้งทรงพระอุตสาหวิริยะในภาระกิจเป็นอย่างยิ่ง ในไม่ช้าก็ทรงสามารถปฏิบัติงาน ในกรมนั้นได้ทุกต่ำแหน่ง โดยเฉพาะการร่างพระราชหัตถเลขา เป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก ถึงกับทรงออกพระนามพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้ว่า " เฉลียวฉลาดรพี " และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีในปีนั้นเอง
เนื่องจากเอกราชทางการศาล ของสยามประเทศในเวลานั้น ได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างมาก กล่าวคือ สยามต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (Extraterritorial rights) ให้แก่ชาวต่างชาติ ที่มาพำนักในประเทศสยามหลายครั้ง หลายครา ด้วยข้ออ้างที่ว่า กฎหมายสยามยังไม่ทันสมัย มิเสมอด้วยกฎหมายของอารยประเทศ จำต้องมีการชำระ สะสางกันใหม่ทั้งระบบอย่างเร่งด่วน เสด็จในกรมฯ จึงทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ ที่จะเข้ารับราชการในฝ่ายตุลาการ เพื่อทรงแก้ปัญหาสำคัญของชาติที่มีอยู่ในเวลานั้น
แต่ด้วยเหตุที่เสด็จในกรมฯ เสด็จไปประทับ ณ ต่างประเทศตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงทรงพระดำริว่า พระองค์มิทรงทราบความ เกี่ยวกับกฎหมายไทยอย่างจริงจัง เป็นเหตุให้ทรงเริ่มศึกษากฎหมายไทย โดยการค้นคว้า จากราชเลขานุการฝ่ายกฤษฎีกา โดยมีขุนหลวงพระยาไกรสี (เปล่ง เวภาระ) และเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์) เป็นผู้รับปฏิบัติค้นคว้าถวาย ทรงศึกษาอยู่ไม่กี่เดือนก็สำเร็จ จนกระทั่งเจ้าพระยาอภัยราชา (ดร.โรแลง ยัคแมงส์) นักกฎหมายชาวเบลเยี่ยม ที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในสมัยนั้นแปลกใจ ขอซักถามก็ได้ความว่า ทรงมีความจำดีมาก ทรงอ่านเพียงครั้งเดียว ก็สามารถจดจำความสำคัญ ทั้งแนวทางกฎหมาย และวิถีทางของการชำระคดีได้หมด
ในพุทธศักราช 2439 หลังจากที่สถาปนากระทรวงยุติธรรมได้ 4 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งข้าหลวงพิเศษขึ้นคณะหนึ่ง สังกัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดการศาลหัวเมือง ในมณฑลอยุธยาเป็นแห่งแรก โดยโปรดเสด็จในกรมฯ ทรงเป็นสภานายกพิเศษ ทั้งยังประกอบด้วยขุนหลวงพระยาไกรสี เนติบัณฑิตอังกฤษ กับมิสเตอร์เกิก แปตริก เนติบัณฑิตเบลเยี่ยม และข้าหลวงพิเศษในท้องถิ่น คือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ สมุหเทศาภิบาลมณฑล กับพระยาชัยวิชิต (นาค ณ ป้อมเพ็ชร์) ผู้รักษากรุงศรีอยุธยา เริ่มจัดการศาลหัวเมืองในครั้งนั้น เสด็จในกรมฯ ทรงตัดสินคดีทั้งปวง ด้วยพระองค์เองอย่างเร่งด่วน และยุติธรรม พระเกียรติคุณปรากฏเป็นที่นิยมยินดี ของหมู่ชนในมณฑลนั้น ยังผลให้การเป็นไปสมพระราชประสงค์ ทุกประการ
ครั้นถึงพุทธศักราช 2439 ต่ำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมว่างลง เนื่องด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร เสนาบดีได้ประชวร และกราบบังคมทูลพระกรุณาลาออกจากต่ำแหน่ง สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จึงกราบบังคมทูลพระกรุณา ขอให้ทรงแต่งตั้งเสด็จในกรมฯ ขึ้นเป็นเสนาบดี โดยมีคำรับรองจากเจ้าพระยาอภัยราชา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการ แต่งตั้งให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ ทรงเป็นเสนาบดีสืบแทน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม พุทธศักราช 2439 นับเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม ลำดับที่ 3 ขณะที่พระชนมายุเพียง 22 พรรษา ทั้งยังดำรงต่ำแหน่งสภานายก ในข้าหลวงพิเศษจัดการศาลตามเดิมด้วย นับว่าทรงเป็นเสนาบดีผู้มีอายุน้อยที่สุด ในประวัติศาสตร์โลก

กรอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย

การอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทย
1. การค้นคว้าวิจัย ควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน

2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย

3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม

4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฎิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ

6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง

7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ

edit @ 1 Nov 2007 20:53:27 by OR4n*C3

วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย

วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
การติดต่อกับชาวต่างชาติของคนไทยในยุคสมัยต่าง ๆ มีผลต่อสังคมไทยหลายด้าน วัฒนธรรมตะวันออกและตะวันตกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย โดยวัฒนธรรมบางอย่างได้ถูกปรับใช้ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตและประเพณีดั้งเดิมของคนไทย ขณะที่วัฒนธรรมบางอย่างรับมาใช้โดยตรง

1. วัฒนธรรมตะวันออกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกต่อสังคมไทยมีมาตั้งแต่ก่อนการตั้งอาณาจักรของคนไทย เช่น สุโขทัย ล้านนา ซึ่งมีทั้งวัฒนธรรมที่รับจากอินเดีย จีน เปอร์เซีย เพื่อนบ้าน เช่น เขมร มอญ พม่า โดยผ่านการติดต่อค้าขาย การรับราชการของชาวต่างชาติ การทูต และการทำสงคราม
สำหรับตัวอย่างอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันออกที่มีต่อสังคมไทยมีดังนี้
1. ด้านอักษรศาสตร์ เช่น ภาษาไทยที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลจากภาษาขอม รับภาษาบาลี ภาษาสันสกฤตจากหลายทางทั้งผ่านพระพุทธศาสนา ผ่านศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จากอินเดีย เขมร นอกจากนี้ ในปัจจุบันภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ก็ได้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยมากขึ้น
2. ด้านกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมาย มีการรับรากฐานกฎหมายอินเดีย ได้แก่ คัมภีร์พระธรรมศาสตร์ โดยรับผ่านมาจากหัวเมืองมอญอีกต่อหนึ่ง และกลายเป็นหลักของกฎหมายไทยสมัยอยุธยาและใช้มาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
3. ด้านศาสนา พระพุทธศาสนาเผยแผ่อยู่ในผืนแผ่นดินไทยมาเป็นเวลายาวนานแล้ว ดังจะเห็นได้จากแว่นแคว้นโบราณ เช่น ทวารวดี หริภุญชัยได้นับถือพระพุทธศาสนา หรือสุโขทัย รับพระพุทธศาสนาจากนครศรีธรรมราชและได้ถ่ายทอดให้แก่อาณาจักรอื่น ๆ ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมของคนไทยตลอดมา นอกจากนี้ คนไทยยังได้รับอิทธิพลในการนับถือศาสนาอิสลามที่พ่อค้าชาวมุสลิมนำมาเผยแผ่ รวมทั้งคริสต์ศาสนาที่คณะมิชชันนารีนำเข้ามาเผยแผ่ในเมืองไทยนับตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา
4. ด้านวรรณกรรม ในสมัยอยุธยาได้รับวรรณกรรมเรื่องรามเกรียรติ์ มาจากเรื่องรามายณะของอินเดีย เรื่องอิเหนาจากชวา ในสมัยรัตนโกสินทร์ได้มีการแปลวรรณกรรมจีน เช่น สามก๊ก ไซอิ๋ว วรรณกรรมของชาติอื่น ๆ เช่น ราชาธิราชของชาวมอญ อาหรับราตรีของเปอร์เซีย เป็นต้น
5. ด้านศิลปวิทยาการ เช่น เชื่อกันว่าชาวสุโขทัยได้รับวิธีการทำเครื่องสังคโลกมาจากช่างชาวจีน รวมทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมเนื่องในพระพุทธศาสนาจากอินเดีย ศรีลังกา
6. ด้วยวิถีการดำเนินชีวิต เช่น คนไทยสมัยก่อนนิยมกินหมากพลู รับวิธีการปรุงอาหารที่ใส่เครื่องแกง เครื่องเทศจากอินเดีย รับวิธีการปรุงอาหารแบบผัด การใช้กะทะ การใช้น้ำมันจากจีน ในด้านการแต่งกาย คนไทยสมัยก่อนนุ่งโจงกระเบนแบบชาวอินเดีย เป็นต้น

2. วัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทย
ไทยได้รับวัฒนธรรมตะวันตกหลายด้านมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในระยะแรกเป็นความก้าวหน้าด้านการทหาร สถาปัตยกรรม ศิลปวิทยาการ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 เป็นต้นมา คนไทยรับวัฒนธรรมตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีของคนไทยมาจนถึงปัจจุบัน
ดัวอย่างวัฒนธรรมตะวันตกที่มีอิทธิพลต่อสังคมไทยที่สำคัญมีดังนี้
1. ด้านการทหาร เป็นวัฒนธรรมตะวันตกแรก ๆ ที่คนไทยรับมาตั้งแต่อยุธยา โดยซื้ออาวุธปืนมาใช้ มีการสร้างป้อมปราการตามแบบตะวันตก เช่น ป้อมวิไชยประสิทธิ์ที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ออกแบบโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจ้างชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านการทหาร มีการตั้งโรงเรียนนายร้อย การฝึกหัดทหารแบบตะวันตก
2. ด้ารการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ 3 มีชนชั้นนำจำนวนหนึ่ง เช่น พระอนุชาและขุนนางได้เรียนภาษาอังกฤษและวิทยาการตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงจ้างครูต่างชาติมาสอนภาษาอังกฤษและความรู้แบบตะวันตกในราชสำนัก
ในสมัยรัชการลที่ 5 มีการตั้งโรงเรียนแผนใหม่ ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้นมาจัดการศึกษาแบบใหม่ ทรงส่งพระราชโอรสและนักเรียนไทยไปศึกษาที่ประเทศต่าง ๆ เช่น โรงเรียนแพทย์ โรงเรียนกฎหมาย ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับและการตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3. ด้านวิทยาการ เช่น ความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้ความรู้ทางดาราศาสตร์จนสามารถคำนวณการเกิดสุริยุปราคาได้อย่างถูกต้อง ความรู้ทางการแพทย์สมัยใหม่ ซึ่งเริ่มในสม้ยรัชกาลที่ 3 ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการจัดตั้งโรงพยาบาล โรงเรียนฝึกหัดแพทย์และพยาบาล ความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตกนี้ได้เป็นพื้นฐานทางการแพทย์และสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน
ด้านการพิมพ์ เริ่มจากการพิมพ์หนังสือพิมพ์รายปักษ์ภาษาไทยขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2387 ชื่อ "บางกอกรีคอร์เดอร์" การพิมพ์หนังสือทำให้ความรู้ต่าง ๆ แพร่หลายมากขึ้น ในด้านการสื่อสารคมนาคม เช่น การสร้างถนน สะพาน โทรทัศน์ โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป รถยนต์ รถไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่คนไทยเป็นอย่างมาก
4. ด้านแนวคิดแบบตะวันตก การศึกษาแบบตะวันตกทำให้แนวคิดทางการปกครอง เช่น ประชาธิปไตย คอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐแพร่เข้ามาในไทย และมีความต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นอกจากนี้ วรรณกรรมตะวันตกจำนวนมากก็ได้มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนรูปแบบการประพันธ์จากร้อยกรองเป็นร้อยแก้ว และการสร้างแนวคิดใหม่ ๆ ในสังคมไทย เช่น การเข้าใจวรรณกรรมรูปแบบนวนิยาย เช่น งานเขียนของดอกไม้สด ศรีบูรพา
5. ด้านวิถีการดำเนินชีวิต การรับวัฒนธรรมตะวันตกและสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ มาใช้ ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยแบบเดิมเปลี่ยนแปลงไป เช่น การใช้ช้อนส้อมรับประทานอาหารแทนการใช้มือ การนั่งเก้าอี้แทนการนั่งพื้น การใช้เครื่องแต่งกายแบบตะวันตกหรือปรับจากตะวันตก การปลูกสร้างพระราชวัง อาคารบ้านเรือนแบบตะวันตก ตลอดจนนำกีฬาของชาวตะวันตก เช่น ฟุตบอล กอล์ฟ เข้ามาเผยแพร่ เป็นต้น


ที่มาและได้รับอนุญาตจาก :
ศิริพร ดาบเพชร คมคาย มากบัว และประจักษ์ แป๊ะสกุล.ประวัติศาสตร์ไทย ม.4-ม.6. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์.
วัฒนธรรมไทย ประเพณีและภูมิปัญญาไทย

วัฒนธรรม หมายถึง วีถีการดำรงชีวิตที่ดีงาม ได้รับการสืบทอดจากอดีตสู่ปัจจุบันเป็นผลผลิตของมนุษย์ที่แสดงถึงความเจริญงอกงาม ทั้งด้านวัตถุ แนวคิดจิตใจ วัฒนธรรมในท้องถิ่นจะเป็นเอกลักษณ์ของสังคมท้องถิ่นนั้นๆ วัฒนธรรมคงอยู่ได้เพราะการเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน และสร้างสรรค์พัฒนาขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง

วัฒนธรรมไทยที่สำคัญ

วัฒนธรรมไทยที่สำคัญ จนกลายเป็นวัฒนธรรมซึ่งนานาชาติยกย่อง และคนไทยมีความภาคภูมิใจมาจนตราบเท่าทุกวันนี้ ได้แก่

ภาษาไทย ไทยเรามีภาษาและตัวอักษรเป็นของตนเองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้ใน พ.ศ.1826 และได้มีการแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาเปลี่ยนแปลงมาตามลำดับ เนื่องจากเราได้มีการติดต่อเกี่ยวกับนานาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จึงได้รับวัฒนธรรมภาษาต่างชาติเข้ามาปะปนใช้อยู่ในภาษาไทย แต่ก็ได้มีการดัดแปลงจนกลายเป็นภาษาไทยในที่สุด ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้

ศาสนา พลเมืองไทยส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา และเป็นศาสนาที่อยู่คู่บ้านบ้านมาช้านานแล้ว ศาสนาจึงมีอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วัฒนธรรมด้านอื่นๆ คนไทยได้ยึดถือเอาหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามาเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ทั้งส่วนรวมและส่วนบุคคล จะมีพิธีทางศาสนาพุทธเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
การแต่งกาย การแต่งกายของคนไทยมีแบบฉบับ และมีวิวัฒนาการมานานแล้ว โดยจะมีการแต่งกายที่แตกต่างกัน ตามสมัยและโอกาสต่างๆ โดยมีวิวัฒนาการมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่แต่งกายตามสากลอย่างชาวตะวันตก หรือตามแฟชั่นที่แพร่หลายเข้ามา แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีจิตใจที่รักในวัฒนธรรมการแต่งกายของไทยแบบดั้งเดิมอยู่ ดังจะเห็นได้จากในงานพิธีกรรมต่างๆ จะมีการรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทย หรือชุดไทย หรือรณรงค์ให้ใส่ผ้าไทยในชีวิตประจำวัน ซึ่งนับได้ว่าเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ชาติอื่นให้ความชื่นชม

ศิลปกรรม ถือเป็นภูมิปัญญาไทยที่สำคัญ โดยเป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อความสวยงามก่อให้เกิดความสุขทางใจ ส่วนใหญ่จะเป็นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยแรงบันดาลใจจากพุทธศาสนา และเป็นการแสดงความเคารพและจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ได้แก่ ผลงานที่ปรากฏตามวัดวาอารามต่างๆ เรือนไทยที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษ ศิลปกรรมไทยที่สำคัญได้แก่ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ วรรณกรรม


ประเพณีไทย

ประเพณี หมายถึง สิ่งที่แต่ละสังคมนิยมยึดถือประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาจนเป็นแบบแผนที่ดีงาม ทั้งนี้การปฏฺบัติตามประเพณีย่อมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขบ้าง คงไว้บ้าง ประเพณีเป็นสิ่งที่แสดงถึงสัญลักษณ์ของชาติ ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด ต้องมีประเพณีประจำท้องถิ่นหรือชุมชน ประจำชาติของตน สามารถจำแนกประเพณีออกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน คือ

จารีตประเพณี ได้แก่ ประเพณีที่สังคม ปฏิบัติกันมานานตั้งแต่บรรพชน ถ้าใครฝ่าฝืน งดเว้นไม่ประพฤติปฏิบัติตามถือว่าเป็นความผิด
ขนบธรรมเนียมประเพณี ได้แก่ ประเพณีที่สังคมที่เป็นระเบียบแบบแผนที่ต้องปฏิบัติตามเป็นที่รับรู้ต้นทางสังคม เช่น ระเบียบของโรงเรียน ชุมชน เป็นต้น
ธรรมเนียมประเพณี ได้แก่ ประเพณีที่เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ ใครจะฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ ไม่ถือว่าผิดศีลธรรม เป็นแต่เพียงสิ่งที่นิยมกันว่ามีคนประพฤติปฏิบัติ มิได้วางไว้เป็นแบบแผนเป็นแต่เพียงการเห็นว่าดี เห็นสมควรปฏิบัติตามต่อๆ กันมา เช่น การต้อนรับแขก การปฏิบัติตนในฐานะเจ้าของบ้าน การพูดจาทักทาย เป็นต้น


เราอาจแบ่งประเภทของประเพณีไทยออกได้เป็น 4 ประเภท คือ

ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิตหรือประเพณีครอบครัว ได้แก่ประเพณีการเกิด ประเพณีการบวช ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีงานศพ
ประเพณีท้องถิ่นของชุมชนหรือประเพณีส่วนรวมตามเทศกาล ประเพณีการชักพระ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ ประเพณีการรับประทานอาหาร
ประเพณีท้องถิ่น ได้แก่ ประเพณีที่เกียวกับอาชีพ เช่น ภาคใต้ ได้แก่ การลงขันลงหิน การทำขันและเครื่องลงยา การทำผ้าบาติก การทำโสร่งปาเต๊ะ ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการแต่งกาย ประเพณีการละเล่นในงานนักขัตฤกษ์ เช่น การละเล่นหนังตะลุง มโนราห์ เป็นต้น
ประเพณีราชการ คือประเพณีที่ทางราชการเป็นผู้กำหนดขึ้น จำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ รัฐพิธีและพระราชพิธี
รัฐพิธี เป็นพิธีประจำปีที่ทางราชการกำหนดขั้น โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นองค์ประธาน หรือโปรดเกล้าฯ ให้พระราชวงศ์เสด็จไปแทนพระองค์ ได้แก่ รัฐพิธีที่ระลึกวันจักรี ตรงกับวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี รัฐพิธีวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม ของทุกปี
พระราชพิธี หมายถึง พิธีที่จัดขึ้นอันเกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ เป็นพิธีหลวง ได้แก่ พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีฉัตรมงคล พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระราชพิธีกาญจนาภิเษก(วโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิถุนายน 2539)
ภูมิปัญญาไทย

ความหมาย ความรู้ ความสามารถ วิธีการ ผลงานที่คนไทยได้ค้นคว้า รวบรวม และจัดเก็บเป็นความรู้ ถ่ายทอดปรับปรุงจากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดเป็นผลผลิตที่ดีงาม งดงาม มีคุณค่ามีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาชีวิตได้ ในแต่ละท้องถิ่นจะมีบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยายหรือผู้รู้ในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งความรู้เหล่านี้เป็นความรู้ที่มีคุณธรรม สอนให้คนพึ่งพาธรรมชาติ โดยไม่ทำลายธรรมชาติ และสอนให้รู้จักเอื้ออาทรต่อคนอื่น

ตัวอย่างภูมิปัญญาไทยที่ควรรู้

ด้านภาษา และวรรณธรรม ได้แก่ สุภาษิต คำพังเพย เพลงพื้นบ้าน ปริศนาคำทายต่างๆ
ด้านประเพณี ได้แก่ กิจกรรมที่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว ชุมชน โดยการแสดงออกทางประเพณีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้านในท้องถิ่นต่างๆ เช่น การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ การทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีวันลอยกระทง วันเข้าพรรษา วันสงกรานต์ การละเล่นพื้นบ้านในแต่ละท้องถิ่น เช่น การระบำรำฟ้อนประเภทต่างๆ เซิ้ง กลองยาว เพลงอีแซว หมอลำ มโนราห์ ซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีความแตกต่างกัน
ด้านศิลปวัตถุและศิลปกรรม ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังตามวัดต่างๆ การทำเครื่องปั้นดินเผาไปแกะสลัก หนังตะลุง เป็นต้น
ด้านการแต่งกาย ได้แก่ การทอผ้าไหม ทอผ้าฝ้าย ซึ่งในแต่ละท้องถิ่นจะมีลักษณะและความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่น

ด้านอาหาร ได้แก่ การจัดประดับตกแต่งอาหารให้มีความสวยงาม ด้วยการแกะสลักด้วยความประณีต การจัดเลี้ยงอาหารแบบขันโตกของทางเหนือ ด้านอาหารที่ขึ้นชื่อของไทย คือ ต้มยำกุ้ง ผัดไทย แกงเลียง ข้าวยำปักษ์ใต้ ข้าวซอย ส้มตำ เป็นต้น
ด้านเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำมาหากิน ได้แก่ การทำระหัดน้ำ การประดิษฐ์กระเดื่องสำหรับตำข้าว การทำเครื่องมือจับสัตว์ เช่น แห อวน ยอ เป็นต้น
ด้านที่อยู่อาศัย ได้แก่ การคิดรูปแบบและวัสดุที่ใช้ในการสร้างบ้านที่สัมพันธ์กับลักษณะภูมิประเทศ และลักษณะภูมิอากาศ เช่น รูปแบบบ้านทรงไทยโบราณ ซึ่งมีใต้ถุนสูง และหลังคามีหน้าจั่วสูง ซึ่งเหมาะกับภูมิอากาศในประเทศไทย เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
ด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทย ได้แก่ การคิดค้นนำส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพร นอกจากมาเป็นอาหารแล้ว ยังนำมาใชสกัดเป็นยารักษาโรค เช่น ขิง กระชายดำ พริกไทย เป็นต้น นอกจากนี้พืชสมุนไพรยังนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลง เช่น เปลือก ใบและผลสะเดา ตะไคร้หอม นอกจากนี้การแพทย์แผนไทยแต่ดั้งเดิมมามีการนวดจุดเพื่อรักษาโรคต่างๆ หรือแม้แต่ท่าฤาษีดัดตน เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เป็นต้น